แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรองโดยนำงานที่ทำขึ้นละเมิดลิขสิทธิ์ออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ซึ่งมีองค์ประกอบความผิด คือ
(1) มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 31 (1) ถึง (4) ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยนำออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่า
(2) ต้องเป็นการกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยให้เช่าหรือเสนอให้เช่าวีดีโอซีดีภาพยนตร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ แม้โจทก์จะมิได้ระบุชื่อผู้ทำขึ้นก็ถือว่าครบองค์ประกอบแล้ว เพราะโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยทำซึ่งวีดีโอซีดีภาพยนตร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 28 (1) แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 31
(3) ผู้กระทำรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นวีดีโอซีดีดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ส่วนจำเลยจะรู้หรือไม่อย่างไรเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา
(4) เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า การนำออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โจทก์จึงบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31 (1)
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15 (3) บัญญัติให้สิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานของโสตทัศนวัสดุและภาพยนตร์ และมาตรา 28 (3) บัญญัติว่า การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เห็นได้ว่า บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานแม้จะเป็นของแท้หรือชอบด้วยกฎหมายยังต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ดังนั้น เมื่อวีดีโอซีดีของกลางเป็นของที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ยังนำออกให้เช่าเพื่อหากำไรในทางการค้า จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 31, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6, 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ให้แผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้อง จำนวน 2 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ ภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยให้การใหม่เป็นรับสารภาพเฉพาะข้อหาประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 50,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหานี้ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 2,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดเป็นจำคุก 3 เดือน ปรับ 52,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้แผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 20 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76 แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า บริษัทอาร์.เอส.โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ ผู้เสียหายเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทภาพยนตร์และงานโสตทัศนวัสดุเรื่อง “ตะลุมพุก” และ “พันธุ์ร็อกหน้าย่น” และได้มีการประกาศโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้ว ผู้เสียหายอนุญาตให้บริษัทแมงป่อง จำกัด เป็นผู้มีสิทธิทำซ้ำภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดังกล่าวได้แต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือมีสิทธิ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 นายธนะซึ่งแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายได้พาร้อยตำรวจเอกสุขุมกับพวกเข้าทำการตรวจค้นร้านเค.ที.วีดีโอ-ซีดี หมู่ที่ 4 ตำบลบางยอ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และยึดได้แผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย 2 เรื่อง จำนวน 20 แผ่น เป็นของกลาง ขณะนั้นจำเลยอยู่ในร้าน ชั้นจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธ ร้อยตำรวจเอกสุขุมทำการตรวจสอบแผ่นวีดีโอซีดีของกลางดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเป็นภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำแผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกให้เช่าเพื่อแสวงหากำไรทางการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ขั้นรองโดยนำงานที่ทำขึ้นละเมิดลิขสิทธิ์ออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ซึ่งมีองค์ประกอบความผิด ดังนี้
(1) มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 31 (1) ถึง (4) ซึ่งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยนำออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่า
(2) ต้องเป็นการกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยให้เช่าหรือเสนอให้เช่าวีดีโอซีดีภาพยนตร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องไม่ได้ระบุชื่อผู้ที่ทำขึ้น (ทำซ้ำ) ซึ่งวีดีโอซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยว่าทำซ้ำซึ่งวีดีโอซีดีภาพยนตร์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 (1) แต่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 31 (1) ดั้งนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นการกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ก็ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดข้อนี้แล้ว
(3) ผู้กระทำรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นวีดีโอซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ส่วนจำเลยจะรู้หรือไม่อย่างไร เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณา
(4) เป็นการกระทำเพื่อหากำไร ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า การนำออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โจทก์จึงได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่า สามารถนำแผ่นวีดีโอซีดีที่ทำซ้ำออกให้เช่าได้ จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีนายธนะเบิกความว่า ผู้เสียหายอนุญาตให้บริษัทแมงป่อง จำกัด มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและบริษัทแมงป่อง จำกัด มีสิทธิอนุญาตช่วงให้บริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ในการให้เช่าวีดีโอซีดี ซึ่งวีดีโอซีดีที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจะมีตราของบริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ประทับอยู่และมีข้อห้ามในการนำไปจำหน่ายโดยระบุว่า “สำหรับเช่าเท่านั้น” ดังนั้น ผู้ที่มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ตามฟ้องของผู้เสียหายคือ บริษัทแมงป่อง จำกัด และผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการให้เช่าคือ บริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ที่จำเลยนำสืบว่า ได้ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ตามฟ้องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดมูฟวี่โฮม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ นั้น ปรากฏในข้อ 1 ของเงื่อนไขการขายว่า “ค่าสิทธิ์บริษัทยูไนเต็ด 50 ก็อปปี้ต่อเดือน” ซึ่งน่าจะมีความหมายว่า หากมีการให้เช่าจะจำกัดแผ่นที่ให้เช่าได้ 50 แผ่นต่อเดือน ดังนั้น การที่จำเลยนำสืบว่า ในสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ตามฟ้องนั้นไม่มีข้อความห้ามที่ระบุว่า “สามารถนำแผ่นวีดีโอซีดีก๊อปปี้ไปให้เช่า” และจำเลยต้องไปซื้อแผ่นปลอมจากตลาดนัดมาให้แก่ลูกค้าเนื่องจากแผ่นที่บริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ส่งมาให้ไม่เพียงพอนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 (3) บัญญัติให้สิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานของโสตทัศนวัสดุและภาพยนตร์ และมาตรา 28 (3) บัญญัติว่า การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เห็นได้ว่าบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานแม้จะเป็นของแท้หรือชอบด้วยกฎหมายยังต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน การที่จำเลยอ้างว่า เมื่อไม่มีข้อห้ามก็สามารถนำแผ่นก๊อปปี้ไปให้เช่าได้ ซึ่งเท่ากับต่อสู้ว่าหากเป็นแผ่นวีดีโอซีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ จำเลยก็เข้าใจว่าสามารถนำออกให้เช่าได้โดยไม่มีความผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวมีน้ำหนักน้อยและขัดแย้งกับกฎหมายลิขสิทธิ์และทางปฏิบัติในการประกอบการค้าให้เช่าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ตามฟ้องซึ่งจำกัดจำนวนให้เช่า 50 ก๊อปปี้ต่อเดือน และข้อ 6.4 ที่ระบุว่าศูนย์วีดีโอจะนำวีดีโอเฉพาะที่ได้รับจากเอเย่นต์เท่านั้นมีไว้เพื่อการค้า กับคำเบิกความของนายธนะที่เบิกความว่า วีดีโอซีดีที่ได้รับอนุญาตต้องมีตราของบริษัทยูไนเต็ด โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด และข้อความระบุว่า “สำหรับเช่าเท่านั้น” ประกอบกับอาชีพจำเลยซึ่งได้ความว่าอยู่ในวงการให้เช่าวีดีโอซีดีมานานถึง 13 ปีแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่รู้ว่าการนำแผ่นวีดีโอซีดีที่ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกให้เช่าเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อปรากฏว่าวีดีโอซีดีของกลางเป็นของที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของละเมิดลิขสิทธิ์แต่ยังนำออกให้เช่าเพื่อหากำไรในทางการค้า จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) …
พิพากษายืน