คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3191/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กรณีที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วจึงพิพากษาชี้ขาดข้อพิพาทไป ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดร้อยละ 10 ต่อปี เกินกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์จึงหาเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และขัดต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 138 (2) ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว 67 รวม 7 ฉบับ ที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 21,131,274 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 20,039,449 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นตนไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ นายสมชาย องค์พิเชษฐเมธา จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จำเลยสั่งซื้อสินค้าอัญมณีจากโจทก์หลายรายการ แต่ไม่สามารถชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้เงินไว้ แต่จำเลยไม่สามารถชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ย โจทก์ตกลงให้จำเลยเลื่อนกำหนดเวลาชำระหนี้ออกไปโดยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี จำเลยสามารถผ่อนชำระดอกเบี้ยได้เพียงบางส่วน โจทก์จึงนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมกับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกันต่อไปอีกหลายคราวต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2529 ถึง 2540 และให้จำเลยออกเช็คไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ เช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ มีมูลหนี้อันไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากโจทก์นำดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายบัญญัติรวมเป็นยอดหนี้เพื่อให้จำเลยออกเช็คพิพาทในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิด จำนวนหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดมีจำนวนไม่เกิน 1,400,000 บาท การที่นำเช็คพิพาททั้ง 7 ฉบับ มาฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 6,750,000 บาท ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 ปี 3 เดือน เริ่มชำระเงินงวดแรกภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2544 งวดต่อไปชำระสามเดือนต่อครั้งทุกวันที่ 26 ของเดือนที่สาม ครั้งละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ของโจทก์ หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์บังคับคดีให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดได้ทันที และจำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ แก่จำเลยนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2542
จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2542 อ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความในส่วนที่จำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ทำขึ้นโดยถูกโจทก์และทนายโจทก์ฉ้อฉล ดอกเบี้ยดังกล่าวในสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเมื่อจำเลยผิดนัดชำระหนี้เป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดขึ้นเพราะฝ่ายโจทก์ฉ้อฉลหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้เรียกร้องดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดขณะที่อยู่ต่อหน้าศาล โดยโจทก์และทนายโจทก์กล่าวอ้างด้วยความฉ้อฉลว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่ลดให้เหลือร้อยละ 10 ต่อปีของต้นเงินที่ค้างชำระ จำเลยด้วยความไม่รู้เท่าทันโจทก์และทนายโจทก์ จึงเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ จึงตกลงยินยอมตามที่โจทก์เรียกร้องตามที่โจทก์เรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หากจำเลยทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยจะต้องโต้แย้งคัดค้านและไม่ตกลงยินยอมตามสัญาประนีประนอมยอมความ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ซึ่งสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยในคดีนี้ทำขึ้นต่อหน้าศาล โดยโจทก์ยอมผ่อนผันลดหนี้ทั้งหมดตามฟ้องจากจำนวนเงิน 21,131,274 บาท เหลือหนี้ที่จำเลยต้องชำระจำนวนเงิน 6,750,000 บาท ให้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้นภายใน 6 ปี 3 เดือน และกำหนดให้จำเลยชำระเป็นงวด หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์บังคับคดีให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดได้ทันที และจำเลยยินยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด และศาลได้พิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ดังนั้น แม้โจทก์และทนายโจทก์ได้กล่าวแก่จำเลยดังที่จำเลยฎีกาจริง ก็หาใช่เป็นเงินที่ฝ่ายโจทก์กระทำการฉ้อฉลจำเลยไม่ เพราะโจทก์มีเหตุอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมายตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวที่โจทก์ผ่อนผันลดหนี้ให้จำเลย และหากจำเลยผิดนัดก็ต้องยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมิได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายโจทก์ฉ้อฉลดังที่จำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้องดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 (2) เห็นว่า กรณีที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งกระทำต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วจึงพิพากษาชี้ขาดข้อพิพาทไป ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องก็ได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพราะเป็นตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ซึ่งต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องดังที่จำเลยฎีกา ฉะนั้น การที่ศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 10 ต่อปี เกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์จึงหาเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 (2) ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share