แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ร่วมกันรื้อโครงสร้างไม้ห้องแถวของผู้เสียหายมากองรวมกันไว้แล้วนำไปเผาทำลาย มิใช่เผาทำลายในขณะที่ทรัพย์ยังมีสภาพเป็นโครงสร้างไม้ห้องแถวอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มีเพียงเจตนาทำให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้โดยการรื้อออกมา ส่วนการเผาเป็นเพียงแค่การทำลายชิ้นส่วนที่รื้อออกมาจนตัวทรัพย์ซึ่งใช้การไม่ได้ไปแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงไม่มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 เพียงบทเดียว หาใช่เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 217 ด้วยไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 217, 358
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายมนตรี ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217, 358 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีอัตราโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ร่วมกันรื้อโครงสร้างไม้ห้องแถวของผู้เสียหายมากองรวมกันไว้ แล้วนำไปเผาทำลาย มิใช่เผาทำลายในขณะที่ยังมีสภาพเป็นโครงสร้างไม้ห้องแถวอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 มีเพียงเจตนาทำให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เพียงบทเดียว หาใช่เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ทรัพย์สินที่ถูกรื้อและถูกจุดไฟเผาทำลาย คงมีสภาพตามภาพถ่ายเท่านั้น ส่วนมูลเหตุจูงใจที่ทำให้จำเลยดังกล่าวกระทำนั้นมาจากกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโครงสร้างไม้ที่ถูกรื้อทำลาย จนเป็นกรณีความฟ้องร้องกันระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่ายซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ กับได้ความว่าภายหลังจำเลยทั้งหมดดังกล่าวก่อเหตุแล้ว ก็แยกย้ายกันไป โดยไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้ใด อีกทั้งทรัพย์ที่เสียหายก็มีมูลค่าไม่สูงนัก พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี จึงหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่รูปคดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงควรให้โอกาสจำเลยทั้งหมดโดยรอการลงโทษจำคุกเพื่อให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป แต่เพื่อให้หลาบจำจึงให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 อีกสถานหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และให้ลงโทษจำคุก คนละ 6 เดือน และปรับ 4, 000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3