คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10832/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมทั้งสี่เข้าพักอาศัยในห้องที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ชั้นสองของอาคารที่ตั้งบริษัท ร. เนื่องจากโจทก์ร่วมที่ 1 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทและเป็นพนักงานของบริษัท ห้องพักของโจทก์ร่วมทั้งสี่ย่อมอยู่ในความครอบครองของบริษัท ร. โดยโจทก์ร่วมทั้งสี่อาศัยสิทธิของบริษัทพักอาศัยในฐานะพนักงานของบริษัทเท่านั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัท มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปของบริษัท เปลี่ยนกุญแจห้องพักของโจทก์ร่วมทั้งสี่รวมถึงเปลี่ยนกุญแจตามจุดต่างๆ ในบริษัทตามคำสั่งของ ว. กรรมการผู้จัดการบริษัท เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีทรัพย์สินของบริษัทสูญหาย จึงเป็นการกระทำในนามของบริษัทเพื่อดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบริษัทด้วยความสุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาบุกรุก และโจทก์ร่วมทั้งสี่ก็ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองห้องพิพาทที่อ้างว่าจำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครอง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายชัยโรจน์ ผู้เสียหายที่ 1 นางเยาวลักษณ์ ผู้เสียหายที่ 2 นางสาวนิ ผู้เสียหายที่ 3 และนางสาวศศินันท์ ผู้เสียหายที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมสามกระทง จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยสักครั้ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ เหตุที่โจทก์ร่วมทั้งสี่เข้าพักอาศัยในห้องเกิดเหตุซึ่งอยู่ชั้นสองของอาคารที่ตั้งบริษัทราชาโภคภัณฑ์เนื่องมาจากโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทและเป็นพนักงานของบริษัท ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนชุดผู้บริหารบริษัทเสียใหม่โดยกลุ่มของโจทก์ร่วมทั้งสี่ออกไปให้นายวิชัยเข้าบริหารบริษัทแทน ห้องพักของโจทก์ร่วมทั้งสี่ย่อมอยู่ในความครอบครองของบริษัทราชาโภคภัณท์ โดยโจทก์ร่วมทั้งสี่ใช้สิทธิของบริษัทพักอาศัยอยู่ในฐานะเป็นเพียงพนักงานของบริษัทเท่านั้น และได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมทั้งสี่เมื่อนายวิชัยเข้าเป็นผู้บริหารบริษัทแทนโจทก์ร่วมที่ 1 แล้ว โจทก์ร่วมที่ 1 ได้ย้ายออกจากบริษัทราชาโภคภัณฑ์จำกัดไปตั้งโรงงานของตนเองขึ้นใหม่ โจทก์ร่วมที่ 3 และโจทก์ร่วมที่ 4 ได้ออกจากบริษัทราชาโภคภัณฑ์จำกัด ย้ายไปทำงานยังโรงงานใหม่ของโจทก์ร่วมที่ 1 คงเหลือไว้แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ทำงานต่อที่บริษัทราชาโภคภัณฑ์จำกัดเพียงผู้เดียว พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ที่ได้ลาออกจากบริษัทราชาโภคภัณฑ์จำกัด ไปทำงานยังบริษัทแห่งใหม่ของโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วยกันแล้ว โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เพิ่งจะรู้เรื่องที่จำเลยให้ช่างมาเปลี่ยนลูกกุญแจห้องพักภายหลังจากวันที่ช่างเปลี่ยนลูกกุญแจเป็นเวลาหลายวัน และพฤติการณ์ที่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 รู้ว่าจำเลยได้ให้ช่างมาเปลี่ยนลูกกุญแจห้องพักแล้วโจทก์ร่วมที่ 2 ได้ให้ช่างทำกุญแจเปลี่ยนกุญแจห้องพักเสียใหม่โดยนายวิชัยและโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านอย่างใด ประกอบกับข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า จำเลยเป็นผู้จัดการบริษัท มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปของบริษัท ช่วงเวลาเกิดเหตุมีทรัพย์สินของบริษัทสูญหาย มีพนักงานพาพวกเข้ามาพักอาศัยภายในบริเวณโรงงาน จำเป็นต้องจัดระเบียบการพักอาศัยของพนักงาน โดยประกาศจัดระเบียบการพักอาศัยให้ทราบทั่วกันแล้ว ได้จัดทำและเปลี่ยนกุญแจตามจุดต่างๆ รวมถึงเปลี่ยนกุญแจห้องพักของโจทก์ร่วมทั้งสี่ซึ่งเป็นห้องพักพนักงานด้วย การกระทำของจำเลยในการจัดเปลี่ยนลูกกุญแจห้องพักของโจทก์ร่วมทั้งสี่เป็นการกระทำในนามของบริษัทราชาโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องพักที่เกิดเหตุมีเหตุผลสมควร กรณีน่าเชื่อจำเลยกระทำการในหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบริษัทด้วยความสุจริต เป็นการกระทำโดยขาดเจตนาบุกรุก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share