แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 62 บัญญัติว่าบุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 ดังนั้น ผลแห่งความตายเพราะสาบสูญจึงมีเช่นเดียวกับการตายธรรมดาคือสิ้นสภาพบุคคลและเกิดผลตามมาในเรื่องทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาท รวมตลอดถึงสิทธิหน้าที่ความรับผิดที่ผู้ตายจะต้องได้รับนับแต่มีคำสั่งศาลแสดงว่าเป็นคนสาบสูญ ทั้งตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 การฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน ดังนั้น การที่ ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญจึงมีผลเท่ากับ ล. ถึงแก่ความตายเมื่อ ล. เป็นสมาชิกของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์จำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวแม้ไม่มีศพที่จะต้องจัดการก็ต้องจ่ายเงินค่าจัดการศพ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์ให้การสงเคราะห์การจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของสมาชิกที่ถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นภริยานายแหล่ สมาชิกจำเลยขณะนายแหล่ยังมีชีวิตได้ไปเสียจากภูมิลำเนาโดยไม่มีใครรู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรเป็นเวลากว่า 5 ปี โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งว่านายแหล่เป็นคนสาบสูญ ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่านายแหล่เป็นคนสาบสูญ ต่อมาโจทก์ไปขอรับเงินค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว จำเลยปฏิเสธอ้างว่าขัดต่อระเบียบของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายแหล่เป็นสมาชิกจำเลยโจทก์เป็นภริยานายแหล่ จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เพราะนายแหล่มิได้ตายตามธรรมชาติตามเจตนารมณ์ของการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการฌาปรกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 และในวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 อันเป็นวันที่นายแหล่สาบสูญ สมาชิกที่ตายมีสิทธิได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพียง 113,719.75 บาท เท่านั้น ปัจจุบันนายแหล่ยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณา ศาลสอบคู่ความแล้ว โจทก์แถลงรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพียง 113,719.75 บาท และจำเลยแถลงสละข้อต่อสู้ที่ว่านายแหล่ยังมีชีวิตอยู่ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าการเป็นคนสาบสูญเข้าเหตุที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และนัดฟังคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ 113,719.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ตุลาคม 2549) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาล เป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 62 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61 ดังนั้น ผลแห่งความตายเพราะสาบสูญจึงมีเช่นเดียวกับการตายธรรมดาคือสิ้นสภาพบุคคลและเกิดผลตามมาในเรื่องทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาท รวมตลอดถึงสิทธิหน้าที่ความรับผิดที่ผู้ตายจะต้องได้รับนับแต่มีคำสั่งศาลแสดงว่าเป็นคนสาบสูญ และเมื่อพิจารณาประกอบพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ การฌาปนกิจสงเคราะห์ หมายความว่า กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้าร่วมกันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน จะเห็นได้ว่าเมื่อนายแหล่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับนายแหล่ถึงแก่ความตาย และเมื่อนายแหล่เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยานายแหล่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ