คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5661/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่จะประกอบธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับธนาคารจำเลยได้ จำเลยก็ทราบเรื่องดังกล่าวดี จึงไม่ได้รายงานการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 อันทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ โจทก์จำเลยจึงไม่อาจนำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องร้องบังคับกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ฝากเงินไว้กับจำเลย 5 รายการ เป็นเงิน 15,733,199.48 บาท และโจทก์ได้จำนำใบรับเงินฝากประจำดังกล่าวไว้ต่อจำเลยเพื่อประกันหนี้สินทุกประเภทที่โจทก์มีอยู่ทั้งในขณะทำสัญญาและจะมีขึ้นในอนาคต ต่อมาจำเลยได้ส่งบัญชีแจ้งการหักบัญชีจากเงินฝากประจำดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ค่าส่วนต่างตามสัญญาอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 66,041,750 บาท โจทก์ได้คัดค้านว่ามิได้มีหนี้ค้างชำระต่อจำเลย ขอให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 890,541.95 บาท รวมเป็นเงิน 16,623,741.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามต้นเงินฝากประจำในอัตราร้อยละ 13.5, 16, 15.5, 15.5, และ 15.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,840,359.32 บาท 408,445.97 บาท 11,488,387.03 บาท 92,357.64 บาท และ 2,794,191.46 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับใบรับเงินฝากประจำทั้ง 5 ฉบับ คืนแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้รับสินเชื่อประเภทซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าทางโทรศัพทย์จากจำเลย โดยโจทก์ต้องจำนำใบรับเงินฝากประจำเพื่อประกันการชำระหนี้กับจำเลยในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ตกลงซื้อขายกันแต่ละคราว ซึ่งสัญญามีผลทันทีเมื่อจำเลยสนองรับตกลงซื้อทางโทรศัพท์จากโจทก์ มีข้อตกลงว่าหากโจทก์หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือมีการบอกเลิกสัญญาทำให้จำเลยเสียหาย โจทก์จะต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับจำนวนส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนขายสกุลเงินประจำวันทางโทรเลข ณ วันครบกำหนดตามสัญญาและยอมให้จำเลยหักบัญชีเงินฝากที่โจทก์มีอยู่กับจำเลยมาชำระค่าชดเชยได้ โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าทางโทรศัพท์กับจำเลย 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 8 สิงหาคม 2539 จำนวน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยน 25.744 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งมอบวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 และได้ต่ออายุสัญญา 4 ครั้ง ครั้งที่ 4 วันที่ 16 ตุลาคม 2540 จำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยน 27.1695 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งมอบวันที่ 16 เมษายน 2541 ซื้อขายครั้งที่สอง วันที่ 18 เมษายน 2540 จำนวน 3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่ออายุสัญญาครั้งที่ 1 วันที่ 20 ตุลาคม 2540 อัตราแลกเปลี่ยน 26.6555 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ครบกำหนดส่งมอบวันที่ 20 เมษายน 2541 โดยโจทก์ได้จำนำใบรับเงินฝากประจำเป็นประกันหนี้จำนวน 5 ฉบับ ครั้นถึงกำหนดส่งมอบเงินดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่ส่งมอบเงินดอลลาร์สหรัฐให้แก่จำเลย จึงถือว่าผิดนัดต้องชำระเงินค่าชดเชยเท่ากับส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน รวมเป็นเงิน 66,041,750 บาท แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ชำระ จำเลยจึงนำเงินฝากของโจทก์มาหักชำระหนี้และคงเหลือหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระ 49,747,825.41 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 23 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2541 ถึงวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งรวมเป็นเงิน 52,840,822.95 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 23 ต่อปี ของต้นเงิน 49,747,825.41 บาท นับถัดจากวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจำชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายเลขที่ 123591 (015826) และ 124134 (015845) กับจำเลย จำเลยทราบดีแต่ต้นว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและชำระเงินกู้เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่ได้ชวนให้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรจากจำเลย ทำให้โจทก์สูญเสียประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยน โจทก์ถูกจำเลยบังคับให้ต่ออายุสัญญา แต่โจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในการต่ออายุสัญญาครั้งที่ 4 ของสัญญาเลขที่ 123591 และการต่ออายุสัญญาครั้งที่ 1 ตามสัญญาเลขที่ 124134 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ จำเลยจึงนำเงินฝากประจำของโจทก์ไปหักชำระหนี้หาได้ไม่ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงิน 49,747,825.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ (ที่ถูกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น)
โจทก์และจำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลย ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกค้าเงินฝากประจำกับจำเลย สาขาสำเพ็ง ตั้งแต่ปี 2535 โดยโจทก์มีเงินฝากในบัญชีประจำกับจำเลยทั้งสิ้น 5 รายการตามสำเนาใบรับฝากประจำเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.8 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,733,199.48 บาท จำเลยได้แนะนำให้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.9 โดยโจทก์ได้จำนำใบรับเงินฝากประจำทั้งหมดไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักประกัน มีการซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐกันตลอดมา เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วในวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 จำเลยได้ส่งไปแจ้งหนี้ระบุว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ 66,041,750 บาท และนำเงินฝากประจำของโจทก์หักกลบลบหนี้ทั้งหมด 4 รายการตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 โจทก์ได้มีหนังสือโต้แย้งคัดค้านให้จำเลยคืนเงินฝากและยกเลิกสัญญาจำนำตามหนังสือโต้แย้งและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.16 ถึง จ.18 ส่วนจำเลยอ้างว่าโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับจำเลย 4 ถึง 5 ครั้ง ทุกครั้งมีการชำระเงินและนำใบรับเงินฝากประจำมาจำนำจนครบถ้วน แต่เมื่อปี 2541 โจทก์ไม่นำใบรับเงินฝากประจำมาจำนำให้ครบ ยังค้างชำระหนี้จำเลยอยู่ 66,041,750 บาท จำเลยหักกลบลบหนี้กับเงินฝากประจำของโจทก์แล้วยังมีหนี้ค้างชำระจำเลยอยู่อีก 49,747,825.41 บาท รวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 52,840,822.95 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์จะต้องรับผิดตามฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ และจำเลยจะต้องคืนเงินฝากประจำแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาตกลงซื้อขายเงินตราต่างประเทศเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2539 หลังจากทำสัญญาแล้วได้ดำเนินธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศตลอดมาตามหลักฐานเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.30 ซึ่งนายเฉลิมชัยผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความถึงรายละเอียดการซื้อขายเงินตราต่างประเทศว่า การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ผู้ขายจะต้องทำธุรกิจด้านนำเข้าหรือส่งสินค้าออกหรือมีการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศเท่านั้น และมีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ผู้ส่งออกสินค้ามีสิทธิเพียงขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ส่วนผู้นำเข้าสินค้ามีสิทธิเพียงขอซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยสถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศจะต้องรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยทุกรายการ ตามปกติของการประกอบธุรกกรรมทางด้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้านั้น สถาบันการเงินมักจะเรียกให้ลูกค้าวางหลักประกันส่วนมากจะเป็นการจำนำใบรับเงินฝากประจำ ซึ่งนายชัยสิทธิ์พยานโจทก์ ทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2509 (ขณะเบิกความดำรงตำแหน่งผู้บริหารสายงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ฝ่ายการต่างประเทศ) เบิกความถึงรายละเอียดว่าจำเลยสามารถทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าได้ตามที่ได้รับอนุญาต ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่สามารถนำเงินของลูกค้าไปซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อเก็งกำไร หากกระทำเช่นนั้นจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ทั้งธนาคารพาณิชย์รามทั้งจำเลยจะต้องจัดส่งรายงานการซื้อขายเงินประจำวันและรายงานประจำเดือนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย จากการตรวจสอบในช่วงปี 2540 จำเลยไม่เคยมีรายงานการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเก็งกำไรกับโจทก์ ไม่มีการแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบแต่ประการใด และบุคคลที่จะสั่งซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าได้นั้น ได้แก่ บุคคลที่สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศและบุคคลที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศหรือเป็นผู้กู้ยืมเงินวิเทศธนกิจภายในประเทศหรือต่างประเทศ ส่วนสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจวิเทศธนกิจจะต้องทำรายงานเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด สำหรับพยานจำเลยปากนางสาววาสนา ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสำเพ็ง มีหน้าที่ควบคุมสินเชื่อและติดตามลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทเบิกความตอบคำถามค้านว่า นอกจากแฟ้มสินเชื่อการซื้อขายเงินตราต่างประเทศแล้วไม่ปรากฏหลักฐานในแฟ้มอื่น ๆ ว่า โจทก์ได้ทำธุรกรรมส่งออกสินค้าและไม่มีการส่งเงินจากต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าในบัญชีเงินฝากของโจทก์ ในธุรกรรมของโจทก์ที่ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับจำเลยนั้น โจทก์จะดำเนินการขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐให้แก่จำเลยโดยโจทก์ได้รับประกันความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อครบกำหนดโจทก์จะขอซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐกลับคืนจากจำเลยและขายเงินดอลลาร์สหรัฐแก่จำเลยใหม่อีก โดยหมุนเวียนเช่นนี้ตลอดไป อันมีลักษณะเป็นการเก็งกำไรจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งนายเฉลิมชัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยค้านว่า โจทก์เคยแจ้งแก่จำเลย โจทก์ประกอบธุรกิจด้านค้าอัญมณีภายในประเทศแต่ไม่ได้ส่งออกและไม่ได้แจ้งว่า โจทก์ได้มีการขอกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากสถาบันการเงินอื่นอีกและไม่ได้แจ้งว่าโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับสถาบันการเงินอื่น ดังนั้น โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะประกอบธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับจำเลยได้ ส่วนจำเลยก็ทราบเรื่องดังกล่าวดี จึงไม่ได้รายงานการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบ ดังนั้น นิติกรรมระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 อันทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ โจทก์จำเลยจึงไม่อาจนำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องร้องบังคับกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยด้วยจึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share