แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2544 โดยโจทก์มิได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านการใช้ทางของโจทก์ แม้ว่าการใช้ทางพิพาทของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2537 โจทก์จะใช้โดยเข้าใจผิดว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์เอง ก็ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมาแล้ว มิใช่โจทก์เพิ่งใช้เป็นทางผ่านเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ในปี 2537 เมื่อโจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมาจนครบสิบปีก็ถือว่าโจทก์ได้ภาระจำยอมแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20055 ตำบลบ้านชุ้ง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8735 ที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่กับผู้อื่น ทิศใต้ของที่ดินของโจทก์ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 11052 ของจำเลยทั้งสองโจทก์ได้ใช้ทางเดินและทางรถยนต์กว้าง 4 เมตร ยาว 3 เมตร ในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ประมาณปี 2532 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นทางตลอดไปเป็นเวลาประมาณ 12 ปีแล้ว ทางดังกล่าว จึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2544 จำเลยทั้งสองนำเสาปูน 3 ต้น มาปักแล้วใช้ลวดหนามขึงขวางปิดทางดังกล่าว ขอให้พิพากษาว่าทางดังกล่าวเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนเสาหินที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไปและห้ามปิดทางพิพาทตลอดไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11052 ตำบลบ้านชุ้ง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาจากนางสุนทร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2517 ภายหลังจากที่นางสุนทรยกที่ดินทางด้านทิศเหนือให้เป็นถนนสาธารณะ จำเลยทั้งสองไม่ได้สอบเขตจึงเข้าใจว่านางสุนทรยกที่ดินให้ทำถนนตามแนวเขตที่ติดกับที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์เข้ามาปลูกบ้านในปี 2532 โจทก์สร้างรั้วติดถนนสาธารณะ จำเลยทั้งสองไม่ได้ขัดขวางเพราะเข้าใจว่าโจทก์สร้างรั้วในที่ดินของโจทก์ จนกระทั่งปี 2537 โจทก์กับพวกขอรังวัดเพื่อแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม จำเลยทั้งสองจึงทราบว่าแนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองอยู่ลึกเข้าไปจากรั้วที่โจทก์ล้อม 3 ถึง 4 เมตร การที่โจทก์ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ปี 2532 จึงเป็นการใช้โดยโจทก์สำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ทราบว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสอง โจทก์มาติดต่อขอซื้อทางพิพาทจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ขัดข้อง เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นบุตรนายเหลือ ซึ่งเป็นอาจำเลยที่ 1 ดังนั้น อายุความการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงสะดุดหยุดลง นับเวลาการใช้ทางพิพาทเป็นเวลาเพียง 5 ปี ส่วนการใช้ทางพิพาทของโจทก์หลังจากนั้นเป็นการถือวิสาสะฉันญาติ ไม่มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิโดยปรปักษ์ ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยทั้งสองภายในเส้นสีเขียวตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.3 กว้าง 4 เมตร ยาว 3 เมตร ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้รื้อถอนเสาหินและลวดหนามออกจากทางพิพาทและห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20055 ตำบลบ้านชุ้ง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8735 ที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่น ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.4 ทางด้านทิศใต้ของที่ดินของโจทก์ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 11052 ของจำเลยทั้งสองตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 และแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.3 จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11052 มาจากนางสุนทร เมื่อปี 2517 ก่อนขายที่ดินให้จำเลยทั้งสอง นางสุนทรได้ยกที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศเหนือให้เป็นทางสาธารณะ ปรากฏตามเส้นสีฟ้าในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.3 ปี 2532 โจทก์ปลูกบ้านในที่ดินของโจทก์และทำรั้วบ้านถึงแนวถนนสาธารณะดังกล่าวโดยโจทก์และจำเลยทั้งสองเข้าใจผิดว่าที่ดินของโจทก์มีแนวเขตทางด้านทิศใต้ติดถนนสาธาณะต่อมาปี 2537 โจทก์และผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8735 ขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม จึงทราบว่าที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้แนวเขตไม่ติดถนนสาธารณะ โดยมีที่ดินของจำเลยทั้งสองคั่นอยู่ จำเลยทั้งสองไม่รับรองแนวเขตให้ โจทก์กับพวกจึงไม่สามารถรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมได้ ต่อมาปี 2544 โจทก์ยอมรื้อรั้วบ้านของโจทก์ที่ติดกับถนนสาธารณะออก และทำรั้วบ้านใหม่ตามแนวเขตที่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงรับรองแนวเขตให้โจทก์กับพวกจึงสามารถรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมได้ นับแต่โจทก์ปลูกสร้างบ้านในที่ดินของโจทก์ในปี 2532 โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทในเส้นสีเขียวตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.3 เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตลอดมา ต่อมาปี 2544 จำเลยทั้งสองจึงทำรั้วลวดหนามปิดกั้นไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวเป็นทางเข้าออก มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ทางพิพาทดังกล่าวตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไม่ได้ความว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอม แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ครอบครองใช้ทางพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ อันเป็นเรื่องแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นคนละเรื่องกับภาระจำยอม ทางพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ปัญหาจึงมีว่า โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2544 โดยโจทก์มิได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านการใช้ทางของโจทก์แต่อย่างใด เห็นว่า แม้ว่าการใช้ทางพิพาทของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2537 โจทก์จะใช้โดยเข้าใจผิดว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของดจทก์เอง ก็ถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมาแล้ว หาใช่โจทก์เพิ่งใช้เป็นทางผ่านเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ในปี 2537 ดังที่จำเลยแก้ฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมาจนครบสิบปีก็ถือว่าโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมแล้ว และเมื่อปรากฎว่าโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ