แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่า เมื่อ อ. หรือพี่น้องในตระกูลนำเงิน 127,000 บาท ไปคืนแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะโอนที่ดินพิพาทและบ้านคืนให้ทันที จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทคืน แต่ตกลงกันในราคาเท่าที่จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันอยู่กับจำเลยที่ 2 และโจทก์วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ 127,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะไปตกลงกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ไม่ไปดำเนินการกับจำเลยที่ 2 เอง ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 รับว่าจะขายที่ดินคืนให้แก่โจทก์แต่ตกลงไว้ในราคาอื่น และจำเลยที่ 1 รับมัดจำไว้แล้ว การตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเข้าลักษณะสัญญาจะซื้อจะขาย และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่โจทก์จึงเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 1 เป็นประเด็นรองและการที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทและบ้านให้แก่โจทก์จึงใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) บัญญัติว่า ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ ซึ่งมาตรา 142 เป็นบทบัญญัติในภาค 1 บททั่วไปสำหรับทุกชั้นศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยตรง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 427 ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 1 หลัง มีชื่อนางอารีย์ พี่สาวโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โดยใช้เป็นที่อยู่อาศัยของบิดามารดาและพี่น้องตระกูล “ศรีนาคา” เมื่อประมาณต้นปี 2537 นางอารีย์นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 127,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ให้นางอารีย์โอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ก่อนโดยทำนิติกรรมประเภทขายเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน ซึ่งความจริงแล้วไม่มีการซื้อขายหรือมีเจตนาจะโอนสิทธิครอบครองประการใด นิติกรรมการจดทะเบียนขายเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 เป็นนิติกรรมอำพราง จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่าเมื่อนางอารีย์หรือพี่น้องในตระกูล “ศรีนาคา” สามารถนำเงิน 127,000 บาท ไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วก็จะโอนที่ดินพร้อมบ้านคืนให้ทันที ต่อมาในปลายปี 2537 และต้นปี 2538 โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 รวม 2 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 127,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 บ่ายเบี่ยง การโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ ต้นเดือนเมษายน 2543 โจทก์จึงทราบว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนคืนให้แก่โจทก์ได้เพราะจำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงินจำนวน 350,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทหรือสิ่งปลูกสร้างไปจดทะเบียนจำนองหรือทำนิติกรรมใด ๆ แก่บุคคลอื่นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริง และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจที่จะรับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มิได้ไปดูสภาพที่ดินพิพาทที่รับจำนองและมิได้ตรวจข้อเท็จจริงเรื่องกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นการกระทำโดยประมาทอย่างร้ายแรงนิติกรรมจำนองจึงเป็นโมฆะ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงไม่จำต้องรับผิดชอบในหนี้จำนอง ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบและโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 427 ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา พร้อมบ้านปูน ชั้นเดียว เสา 9 ต้น หลังคามุงกระเบื้องคืนให้แก่โจทก์ในสภาพที่ปลอดจำนอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และพิพากษาว่านิติกรรมจำนองเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2537 ระหว่าง จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนการจำนอง และให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากนางอารีย์ พี่สาวโจทก์ภายหลังญาติพี่น้องของนางอารีย์ทราบเรื่องจึงขอซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ตามราคาที่แท้จริงเท่าที่จำเลยที่ 1 มีภาระหนี้ผูกพันกับจำเลยที่ 2 โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินค่าวางมัดจำจำนวน 127,000 บาท และเงินส่วนที่เหลือตามที่จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันกับจำเลยที่ 2 นั้นโจทก์จะไปดำเนินการผ่อนชำระกับจำเลยที่ 2 เอง เมื่อปลดภาระหนี้กับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 จะดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทันที แต่โจทก์มิได้ดำเนินการตามที่ตกลงกับจำเลยที่ 1 ไว้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เดิมนางอารีย์ เป็นผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 427 ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เดิมโจทก์ไม่เคยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างนางอารีย์กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 กระทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงเป็นนิติกรรมที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่นิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 สามารถนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเพื่อเป็นการประกันหนี้เงินกู้ของนายเกียรติศักดิ์ จำเลยที่ 2 รับจำนองไว้โดยถูกต้อง สุจริต เสียค่าตอบแทนและชอบด้วยกฎหมายและมิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 กระทำการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 427 ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา พร้อมบ้านปูนชั้นเดียว เสา 9 ต้น หลังคามุงกระเบื้องให้แก่โจทก์ในสภาพที่ปลอดจำนองให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 สมควรให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางอารีย์ พี่สาวโจทก์ กู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 127,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมกันและนางอารีย์ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินของผู้อื่น ต่อมาโจทก์นำเงิน 127,000 บาท ไปชำระค่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.4 มอบให้แก่โจทก์มีใจความทำนองว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงิน 127,000 บาท เป็นค่าที่ดินพิพาทครบถ้วนแล้วแต่ยังโอนที่ดินพิพาทคืนให้ไม่ได้เพราะติดจำนอง เมื่อไถ่ถอนจำนองแล้วจำเลยที่ 1 จะโอนที่ดินพิพาทคืนให้ทันที หลังจากทำบันทึกฉบับดังกล่าวนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่โจทก์นั้น เป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่า เมื่อนางอารีย์หรือพี่น้องในตระกูล “ศรีนาคา” นำเงิน 127,000 บาท ไปคืนแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะโอนที่ดินพิพาทและบ้านคืนให้ทันที ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทคืน แต่ตกลงกันในราคาเท่าที่จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันอยู่กับจำเลยที่ 2 และโจทก์วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ 127,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะไปตกลงกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ไม่ไปดำเนินการกับจำเลยที่ 2 เอง ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 รับว่าจะขายที่ดินคืนให้แก่โจทก์แต่ตกลงไว้ในราคาอื่น และจำเลยที่ 1 รับมัดจำไว้แล้ว การตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงย่อมเข้าลักษณะสัญญาจะซื้อจะขาย และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่โจทก์จึงเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายระหว่างนางอารีย์กับจำเลยที่ 1 เป็นประเด็นรอง และการที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทและบ้านให้แก่โจทก์จึงมิใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ฎีกานี้ของโจทก์ฟ้งขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปคือ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้องของประชาชนขึ้นวินิจฉัยเองได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) บัญญัติว่าในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ ซึ่งมาตรา 142 เป็นบทบัญญัติในภาค 1 บททั่วไปสำหรับทุกชั้นศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา โดยศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้วดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และตามปัญหาของจำเลยที่ 1 ว่าสัญญาที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้เป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทหรือไม่ แม้คู่ความจะสืบพยานจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไปเสียเองได้ก็ตาม แต่เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงเป็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่