คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีผู้บริโภคจะขึ้นมาสู่ศาลฎีกาได้เฉพาะแต่กรณีที่คู่ความยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค พร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา และศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาแล้วเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 46, 49, 51, 52 และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ข้อ 40 ดังนั้นจึงไม่อาจอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 7 นำบทบัญญัติในเรื่องการอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาอนุโลมใช้บังคับแก่คดีผู้บริโภคได้ เพราะขัดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ นับถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 850,759.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ของต้นเงิน 630,275.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และชำระค่าเบี้ยประกันภัย 1,352.82 บาท ทุก 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 850,759.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ของต้นเงิน 630,275.19 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 36526 อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาในปัญหาเรื่องดอกเบี้ย โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 46 กำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภคว่า ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง ประกอบกับมาตรา 49 วรรคสอง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 52 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด” เว้นแต่กรณีที่คู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาท หรือในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ข้อ 40 เท่านั้น ดังนั้น คดีผู้บริโภคจะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคได้ก็แต่เฉพาะกรณีที่คู่ความยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค พร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา และศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาแล้วเท่านั้น แม้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติว่า “กระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามมาตรา 6 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ก็ตาม แต่การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภคต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้เป็นพิเศษแล้ว แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ใช้บังคับแก่คดีแพ่งสามัญทั่วไป แตกต่างจากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ดังกล่าว จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภคซึ่งได้บัญญัติถึงวิธีพิจารณาไว้เป็นพิเศษแล้วได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share