คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1830/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ นั้น ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 52 ในเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาในคดีที่จะขึ้นมาสู่ศาลฎีกา โดยให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเท่านั้น คดีจึงจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภค ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 25,598 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงิน 14,927 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า แม้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติว่า “กระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 6 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ก็ตาม แต่ทั้งนี้การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ดังกล่าว บทบัญญัติในเรื่องการอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภคได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share