คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1866/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานเพราะเหตุจำเป็นที่ผู้เสียหายหนีออกจากบ้านพักไม่สามารถติดตามตัวได้ แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายตามบันทึกคำให้การ และผลการชันสูตรบาดแผล ซึ่งตรวจหลังเกิดเหตุในวันเดียวกันและพบรอยถลอกที่ปากช่องคลอดและรอยช้ำที่เยื่อพรมจรรย์แล้วเชื่อว่าผู้เสียหายให้การไปตามความจริง บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 80, 279, 317, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80, 279 วรรคสอง, 317วรรคสาม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานพยายามกระทำชำเราและฐานกระทำอนาจารเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพยายามกระทำชำเราซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 7 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารและพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความดังกล่าว สิบตำรวจโทสุระเจตน์และนางสมคิดทราบเรื่องราวจากการคาดคั้นสอบถามผู้เสียหาย ไม่ใช่ผู้เสียหายสมัครใจที่จะเล่าเรื่องราวให้ฟังด้วยตนเองมาตั้งแต่แรก เมื่อสิบตำรวจโทสุระเจตน์และนางสมคิดพาผู้เสียหายไปให้ปากคำต่อพันตำรวจตรีศรศิลป์พยานโจทก์ ผู้เสียหายก็ให้การถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีรายละเอียดตรงกันกับที่ได้เล่าให้สิบตำรวจโทสุระเจตน์และนางสมคิดฟัง ซึ่งพันตำรวจตรีศรศิลป์เบิกความรับรองในข้อนี้ และบันทึกคำให้การดังกล่าวยังได้ทำต่อหน้านักจิตวิทยาและพนักงานอัยการซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายผู้เสียหายหรือฝ่ายจำเลย ไม่มีข้อน่าระแวงสงสัยว่าจะทำขึ้นเพื่อใส่ร้ายจำเลย แม้ผู้เสียหายจะเคยพูดโกหกต่อสิบตำรวจโทสุระเจตน์และนางสมคิดหลายครั้ง แต่เหตุที่ผู้เสียหายกระทำไปก็เพราะกลัวถูกทำโทษ ส่วนเรื่องราวเหตุการณ์ตามที่ผู้เสียหายเล่าให้สิบตำรวจโทสุระเจตน์และนางสมคิดฟังหรือที่ให้การต่อพันตำรวจตรีศรศิลป์ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้ผู้เสียหายอาจถูกทำโทษซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องการหลีกเลี่ยง จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้เสียหายจะต้องสร้างเรื่องเพื่อให้ตนเองถูกทำโทษและต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง นอกจากนั้นโจทก์มีสิบตำรวจโทประจักษ์ และสิบตำรวจโทธวัชชัย เป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 7 นาฬิกา จำเลยพาผู้เสียหายไปที่สำนักงานของสวนสัตว์ห้วยทรายที่พยานทั้งสองทำงาน และวันเดียวกันช่วงบ่ายจำเลยพาผู้เสียหายกลับไปที่สวนสัตว์อีกครั้งหนึ่งแล้วจำเลยก็ออกไปโดยบอกว่าจะมารับผู้เสียหาย จนกระทั่งเวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยก็ยังไม่มา สิบตำรวจโทธวัชชัยจึงให้เพื่อนไปส่งผู้เสียหาย ซึ่งเหตุการณ์ตามคำเบิกความของสิบตำรวจโทประจักษ์และสิบตำรวจโทธวัชชัยสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายให้การ สิบตำรวจโทประจักษ์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับจำเลยส่วนสิบตำรวจโทธวัชชัยเป็นรุ่นน้องจำเลย ไม่ปรากฏว่าเคยมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความบิดเบือนความจริงให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย ประกอบกับผู้เสียหายนำพันตำรวจตรีศรศิลป์ไปโรงแรมม่านรูดและชี้ห้องหมายเลข 4 ที่เกิดเหตุ ซึ่งนางยุพิน พนักงานโรงแรมม่านรูดเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา มีคนขับรถยนต์กระบะสีขาวมาเปิดใช้ห้องหมายเลข 4 ที่ข้างรถคันดังกล่าวมีรูปสัตว์ติดอยู่ซึ่งตรงกันทั้งช่วงเวลาที่ผู้เสียหายให้การว่าจำเลยพาไปโรงแรมม่านรูดและลักษณะรถยนต์กระบะของจำเลย ทำให้น่าเชื่อว่าเหตุการณ์เป็นไปตามคำให้การของผู้เสียหาย ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานเพราะเหตุจำเป็นที่ผู้เสียหายหนีออกจากบ้านพักไม่สามารถติดตามตัวได้ แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย และผลการชันสูตรบาดแผลซึ่งตรวจหลังเกิดเหตุในวันเดียวกันและพบรอยถลอกที่ปากช่องคลอดและรอยช้ำที่เยื่อพรมจรรย์แล้วเชื่อว่าผู้เสียหายให้การไปตามความจริง บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/3 (1) …
พิพากษายืน

Share