คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตึกกับเครื่องเรือนอาจทำสัญญาแยกกันได้ จะถือเป็นสัญญาควบหรือรวมกันเสมอไปไม่ได้
เมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนโดยโจทก์ได้รบกวนไม่ให้จำเลยใช้ประโยชน์แห่งสถานที่เช่าตามสัญญาด้วยประการต่างๆ จำเลยผู้เช่าจึงมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งถึงการถูกรบกวนและให้เอาเงิน 4,000 บาทที่จำเลยวางเป็นประกันว่าจำเลยจะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่า ใช้เป็นค่าเช่าเดือนมิ.ย. และ ก.ค. และว่าหากยังรบกวนอยู่อีกจะยึดหน่วงค่าเช่าสำหรับเดือนต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติตามสัญญา กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจะถือว่าจำเลยจงใจไม่ชำระค่าเช่าสำหรับ 2 เดือนดังกล่าวยังไม่ได้ ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าดังฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่าตึกเลขที่ 298 ถนนสุริยวงศ์พระนคร อัตราเดือนละ 2,000 บาทกับตกลงเช่าเครื่องเรือนต่าง ๆ ที่อยู่ในตึกเดือนละ 1,500 บาทตามสัญญาท้ายฟ้อง จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์เกินกว่า 2 คราว ติด ๆ กันตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2498 รวมเป็นเงิน 14,000 บาท จึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร ฯลฯ

จำเลยรับว่าได้ทำสัญญาเช่าบ้านและเครื่องเรือนจริงตามฟ้องโดยตกลงเช่าต่างหากจากกันไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้ผิดนัด ดังฟ้อง ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกามีความสำคัญ 2 ข้อคือ (1) สัญญาเช่าตึกและสัญญาเช่าเครื่องเรือนรายนี้เป็นสัญญาควบกัน จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเช่าเครื่องเรือนโดยไม่ยอมเลิกสัญญาเช่าตึกหาได้ไม่ (2) จำเลยไม่มีสิทธิจะให้หักเงิน 4,000 บาทที่ให้ไว้ตามสัญญาเป็นการชำระค่าเช่าได้เพราะเงินจำนวนนั้นเป็นเงินประกันว่าจำเลยจะต้องปฏิบัติตามสัญญามิฉะนั้น ถ้าจำเลยผิดสัญญาโจทก์ก็ไม่มีทางจัดการกับเงินนั้นได้อย่างไร เมื่อเช่นนี้แล้วก็ต้องถือว่าจำเลยค้างค่าเช่าจริง โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

สำหรับฎีกาข้อ 1. ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาเช่าตึกกับสัญญาเช่าเครื่องเรือนรายนี้เป็นสัญญาแยกกันคนละส่วน จะถือว่าเป็นสัญญาควบหรือรวมกันไม่ได้ เมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจริงจำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าเครื่องเรือนโดยลำพังได้

สำหรับฎีกาข้อ 2. ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อน โดยโจทก์ได้รบกวนไม่ให้จำเลยใช้ประโยชน์แห่งสถานที่เช่าตามสัญญาด้วยประการต่าง ๆ จำเลยจึงมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งถึงการถูกรบกวน และให้เอาเงิน 4,000 บาทใช้เป็นค่าเช่าสำหรับเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม และว่าหากยังรบกวนอยู่อีกจะยึดหน่วงค่าเช่าสำหรับเดือนต่อไปจนกว่าจะปฏิบัติตามสัญญา

ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจะถือว่าจำเลยจงใจไม่ชำระค่าเช่าสำหรับเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมยังไม่ได้ ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าดังฟ้อง

พิพากษายืน

Share