คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 236/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 บัญญัติห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า ดังนั้น จำเลยจะแก้ไขระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินบำนาญ ให้แก่ลูกจ้างให้กระทบกระเทือนเป็นที่เสียหายแก่สิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่แล้วไม่ได้
บำนาญหมายถึงเงินเลี้ยงชีพที่จ่ายให้โดยมีกำหนดเวลาสำหรับความดีความชอบในการทำงานที่ได้ทำมา เมื่อโจทก์ทำงานกับบริษัทจำเลยมานานเกิน 10 ปี จึงมีสิทธิได้รับบำนาญตามระเบียบของจำเลยฉบับเดิม ถึงแม้โจทก์จะลาออกเอง ก็มีสิทธิได้รับบำนาญโดยไม่จำเป็นต้องทำงานให้ครบเกษียณ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ ลาออกเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๘ รวมเวลาทำงาน ๑๑ ปี ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ ๗,๖๐๐ บาท โจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญตามระเบียบการจ่ายเงินบำนาญฉบับลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๑๕ โดยคำนวณเอาจากเงินเดือนครั้งสุดท้ายคูณด้วย ๑.๒ แล้วคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานมา ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับบำนาญ ๑๐๐,๓๒๐ บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจ่ายเงิน ๑๐๐,๓๒๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลย ได้ลาออกขณะได้รับเงินเดือน ๗,๖๐๐ บาท แต่โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินบำนาญเพราะจำเลยมีสิทธิแก้ไขโครงการการจ่ายเงิน และได้แก้ไขโดยใช้ฉบับใหม่แล้วตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๘ ดังนี้ เนื่องจากโจทก์ลาออกไม่ใช่ปลดเกษียณตามความหมายในโครงการดังกล่าว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ควรได้รับสิทธิตามระเบียบการจ่ายเงินบำนาญฉบับแรกลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๑๕ ส่วนระเบียบที่จำเลยแก้ไขฉบับลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๘ นั้น หามีผลลบล้างสิทธิของโจทก์ที่มีมาแต่เดิมตามระเบียบฉบับแรกไม่ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำนาญ ๑๐๐,๓๒๐ บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ระเบียบการจ่ายเงินบำนาญฉบับแรกลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๑๕ บริษัทจำเลยได้ตราขึ้นขณะที่โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยอยู่แล้ว โจทก์ได้รับสิทธิตามที่ตราขึ้นตลอดมา การที่จำเลยแก้ไขนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๐ ก็ได้บัญญัติห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า เงินบำนาญหมายถึงเงินเลี้ยงชีพที่จำเลยให้โดยมีกำหนดเวลาสำหรับความดีความชอบในการทำงานที่ได้ทำมา โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องทำงานให้ครบเกษียณ การที่จำเลยแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินบำนาญใหม่ฉบับลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๘ ให้จ่ายเงินบำนาญแก่พนักงานชายซึ่งมีอายุ ๖๕ ปี และพนักงานหญิงซึ่งมีอายุ ๖๐ ปี โดยผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่บริษัทได้จ้างติดต่อกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ซึ่งระเบียบดังกล่าวตัดสิทธิโจทก์ โจทก์ทำงานกับบริษัทจำเลยมานานเกิน ๑๐ ปี จึงมีสิทธิได้รับบำนาญตามระเบียบฉบับเดิม ลงวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๑๕ ถึงแม้โจทก์จะลาออกเอง
พิพากษายืน

Share