คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้จัดการธนาคารสาขาวรจักรของโจทก์ ในการจ่ายเงินล่วงหน้าหรือให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีนั้น จะต้องมีดอกเบี้ยและเรียกหลักประกัน เช่นการรับจำนำหรือรับจำนอง แต่จำเลยให้ ซ.และฬ. เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่ได้เรียกหลักประกันไว้ ครั้น ซ. ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์จึงหมดสิทธิเรียกร้องเอาจาก ซ. ส่วนฬ. ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โจทก์ไม่สามารถติดตามให้ชำระหนี้ได้ ถ้าจำเลยเรียกหลักประกันไว้จากบุคคลทั้งสองนี้โจทก์จะไม่เสียหาย การที่โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จากบุคคลทั้งสองนี้เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่เรียกหลักประกันอันเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจ และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อระหว่าง ปี 2502 ถึง 2516 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ โดยโจทก์ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาวรจักร กรุงเทพฯ เป็นตัวแทนของโจทก์ ในกรณีให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีจำลยจะต้องเรียกหลักประกัน หรือมิฉะนั้นต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ของโจทก์ก่อนจำเลยได้กระทำการโดยปราศจากอำนาจและนอกขอบอำนาจและด้วยความประมาทเลินเล่อ คือจำเลยได้ให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีไปหลายรายโดยมิได้เรียกหลักประกัน มิได้ติดตามเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และงดคิดดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้บางราย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน133,443.11 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในเงินต้น 79,455.17 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่าไม่ได้เป็นตัวแทนของโจทก์ แต่เป็นลูกจ้างโจทก์ไม่ได้ทำการโดยประมาทเลินเล่อ หรือทำโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยเป็นทั้งลูกจ้างและตัวแทนของโจทก์ และจำเลยทำนอกเหนือขอบอำนาจโดยไม่เรียกหลักประกันจากลูกค้ารายนายเซี้ยมเมี้ว และนายฟิลลิป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์สำหรับลูกค้า 2 รายนี้เป็นเงิน 28,448.37 บาท และดอกเบี้ยอัตราตามขอนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทำนอกเหนือขอบอำนาจ แต่ได้รายงานให้โจทก์ทราบทุกเดือน แต่โจทก์ไม่ได้ทักท้วงห้ามปราม ถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยโดยปริยาย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว หน้าที่และความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812บัญญัติว่า “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดีเพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด” ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้รับมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนโจทก์ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการธนาคารโจทก์สาขาวรจักรแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.3อำนาจในการจ่ายเงินล่วงหน้าหรือที่เรียกว่าให้ลูกค้าเบิกเงินเกินบัญชีนั้นตามหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.3 ข้อ 2 ระบุว่า จะต้องมีดอกเบี้ยและเรียกหลักประกันเช่นการรับจำนำหรือรับจำนองแต่จำเลยได้ให้นายเซียมเมี้ยวและนายฟิลลิปเบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่ได้เรียกหลักประกันเป็นทรัพย์สินไว้เลย ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนนอกเหนืออำนาจตามที่โจทก์ตัวการได้มอบหมายให้ไว้ตามหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.3 ข้อ 3 จำเลยมีสิทธิเรียกร้องและฟ้องร้องให้ชำระหนี้ทั้งสองรายนี้แทนโจทก์ได้แต่หนี้รายนายเซียมเมี้ยวปรากฏว่าในปีที่นายเซียมเมี้ยวเบิกเงินเกินบัญชีไปโดยไม่มีหลักประกันนั้นเอง นายเซียมเมี้ยวถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ โจทก์จึงหมดสิทธิเรียกร้องให้นายเซียมเมี้ยวชำระหนี้รายนี้ ส่วนหนี้รายนายฟิลลิปนั้นปรากฏว่านายฟิลลิปไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โจทก์ไม่สามารถติดตามให้ชำระหนี้ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าถ้าจำเลยให้นายเซียมเมี้ยวและนายฟิลลิปเบิกเงินเกินบัญชีไปโดยเรียกหลักประกันเป็นทรัพย์สินไว้ ความเสียหายย่อมจะไม่เกิดขึ้นแก่โจทก์ กล่าวคือหาทำให้โจทก์หมดสิทธิเรียกร้องในหนี้ของนายเซียมเมี้ยวไม่ เพราะโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้และหนี้ของนายฟิลลิป แม้จะปรากฏ่านายฟิลลิปไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งก็ตามโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันได้เช่นกัน การที่โจทก์หมดสิทธิเรียกร้องให้นายเซียมเมี้ยวชำระหนี้ก็ดี ไม่สามารถติดตามทวงถามให้นายฟิลลิปให้ชำระหนี้ได้ก็ดี เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะจำเลยไม่เรียกหลักประกันไว้อันเป็นการกระทำโดยนอกเหนืออำนาจ และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รายงานเกี่ยวกับลูกค้าที่เบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์ทราบทุกเดือน และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทักท้วงห้ามปรามจำเลยนั้น หาทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดดังกล่าวไปไม่

พิพากษาแก้เป็นให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share