คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้อุทธรณ์แล้ว ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวนั้นต่อศาลอุทธรณ์อีกไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาผู้นั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานบัญชีของธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาเชียงใหม่มีหน้าที่รับฝากเงินของผู้นำมาฝากและมอบตัวเงินให้กับธนาคาร บังอาจมีเจตนาทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินของผู้นำมาฝากรวมเป็นเงิน 46,500 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 46,500 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ผู้เสียหายร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มั่นคงพอจะลงโทษจำเลย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ร่วมอุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้อนุญาตให้อุทธรณ์ถ้าไม่อนุญาต ขอให้ส่งอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไปให้อธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง ฯ

ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดี สั่งอุทธรณ์ว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ไม่รับอุทธรณ์ และสั่งคำร้องว่าไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ และข้อที่ขอให้ส่งไปให้อธิบดีกรมอัยการรับรองก็ไม่ใช่หน้าที่ของศาล เป็นเรื่องของผู้ร้องจะจัดการเอง ให้ยกคำร้อง

โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น และให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ก็ขอให้ส่งอุทธรณ์ไปให้อธิบดีกรมอัยการรับรอง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนี้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ จะมาขอให้ศาลอุทธรณ์ยกหรือกลับคำสั่งนั้นอีกไม่ได้ ให้ยกคำร้องอุทธรณ์

โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 10 ถ้าโจทก์ร่วมจะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 ทวิ โดยขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น อนุญาตให้อุทธรณ์ฯ เมื่อปรากฎว่า ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้อุทธรณ์แล้ว โจทก์ร่วมจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวนั้นต่อศาลอุทธรณ์อีกไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลชั้นต้น

ส่วนข้อที่ว่าเมื่อศาลสั่งไม่อนุญาตให้อุทธรณ์แล้ว โจทก์ร่วมไม่มีทางนำอุทธรณ์ที่ยื่นต่อศาลไปเสนอให้อธิบดีกรมอัยการรับรองในอุทธรณ์ได้ ต้องขอให้ศาลส่งไปให้นั้น เห็นว่า กฎหมายมิได้บัญญัติให้ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งอุทธรณ์ไปให้อธิบดีกรมอัยการรับรองการรับรองอุทธรณ์เป็นประโยชน์แก่ผู้อุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์จะต้องขอไปยังอธิบดีกรมอัยการเอง ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 800/2511

พิพากษายืน ให้ยกฎีกา

Share