คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2920/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยโดยมิได้กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับเมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการบังคับค่าปรับไว้จึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 29, 30 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับอันเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลมาใช้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 17 ทั้งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และเมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ ดังนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปีไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27, ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลางจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การรับสารภาพในข้อหาซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรสำหรับของนั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 629,928 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 314,964 บาท ให้จำเลยจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบของราคาของกลางและค่าปรับ และให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เป็นการชอบด้วยกฎหมายและเพิ่มเติมโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยโดยมิได้กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับ เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการบังคับค่าปรับไว้จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินใช่ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับอันเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 ทั้งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และเมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ ดังนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปีไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี นั้น จึงชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินบนร้อยละสามสิบของราคาของกลางและค่าปรับ และจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติว่า “สินบนและรางวัลให้จ่ายจากการเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ในกรณีที่ศาลมิได้สั่งริบของกลางหรือของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล” บทมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติให้จำเลยเป็นผู้จ่ายสินบนและรางวัลทั้งไม่ปรากฏว่าไม่อาจขายรถยนต์ของกลางได้แต่อย่างใด จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบของราคารถยนต์ของกลางและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคารถยนต์ของกลางที่ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share