แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง นั้น หลังจากฝ่ายจำเลยยื่นคำให้การแล้วโจทก์อาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องได้ ซึ่งศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ห้ามมิให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังฝ่ายจำเลยก่อน คดีนี้ปรากฏว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ศาลได้บันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่เดียวกันว่า ศาลสอบแล้วทนายจำเลยทั้งห้าแถลงคัดค้านว่าประสงค์จะให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ต่อมาศาลได้บันทึกรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ว่า ศาลสอบแล้ว ทนายโจทก์ยืนยันจะถอนคำฟ้อง ทนายจำเลยทั้งห้าแถลงคัดค้านเนื่องจากหากศาลอนุญาตให้ถอนคำฟ้อง ว. ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในข้อหาเดียวกันนี้อีก จึงเป็นการเอาเปรียบจำเลยทั้งห้าจากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่า ศาลได้สอบถามจำเลยทั้งห้าแล้ว ซึ่งแม้จำเลยทั้งห้าจะคัดค้าน ศาลก็ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้างดใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “THREE ARROWS BRAND” หรือตราสามศรของโจทก์ และส่งมอบหีบห่อที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “”THREE ARROWS BRAND” หรือตราสามศรคืนโจทก์ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,852,155.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,806,497.87 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตถอนคำฟ้อง จำเลยทั้งห้าคัดค้าน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์จำนวน 40,000 บาท
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง นั้น หลังจากฝ่ายจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องได้ ซึ่งศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ห้ามมิให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังฝ่ายจำเลยก่อน คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ศาลได้บันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่เดียวกันนั้นว่า ศาลสอบแล้ว ทนายจำเลยทั้งห้าแถลงคัดค้านว่า ประสงค์จะให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ต่อมาศาลได้บันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ว่าศาลสอบแล้ว ทนายโจทก์ยืนยันจะถอนคำฟ้อง ทนายจำเลยทั้งห้าแถลงคัดค้าน เนื่องจากหากศาลอนุญาตให้ถอนคำฟ้อง นายวิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในข้อหาเดียวกันนี้อีก จึงเป็นการเอาเปรียบจำเลยทั้งห้า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่า ศาลได้สอบถามจำเลยทั้งห้าแล้ว ซึ่งแม้จำเลยทั้งห้าจะคัดค้าน ศาลก็ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนประเด็นที่ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ศาลได้ให้เหตุผลไว้ว่า นายวิวัฒน์ อาจยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าในข้อหาเดียวกันได้ เพราะเป็นสิทธิของนายวิวัฒน์ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์ ถึงแม้ศาลจะไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องคดีนี้ ก็ไม่กระทบสิทธิของนายวิวัฒน์ที่จะฟ้องจำเลยทั้งห้าในข้อหาเดียวกันนี้ได้อยู่แล้ว การไม่อนุญาตให้ถอนคำฟ้องคดีนี้มีแต่จะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น จึงเป็นการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจโดยชอบ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จึงหาได้ให้จำเลยทั้งห้าเสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ