แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 479038 มีเจตนาไม่สุจริต แต่ปรากฏว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้ขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่รับวินิจฉัยให้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ในการพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น ย่อมจะต้องพิจารณาจากการจำหน่ายสินค้า การใช้ หรือการโฆษณาเครื่องหมายจนเป็นที่แพร่หลายทำให้สาธารณชนทั่วไป หรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี และเครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค
พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมานั้น ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานในปี 2545 และเป็นการโฆษณาสินค้าบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงการออกรายการในโทรทัศน์ระบบเคเบิล ซึ่งไม่แน่ว่าสาธารณชนทั่วไป หรือแม้แต่สาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับกีฬากอล์ฟในประเทศไทย หรือผู้บริโภคทั่วไปจะเข้าถึงการโฆษณาและการออกรายการดังกล่าวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์คำว่า “Golf Channel” เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 506/2548 และคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 51/2546 ห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 479038
จำเลยให้การว่า คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้กระทำไปโดยสุจริต ภายในขอบเขตของกฎหมายและถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 479038 มีเจตนาไม่สุจริต และมีคำขอท้ายอุทธรณ์ขอให้ห้ามรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอนั้น เป็นกรณีที่โจทก์ได้กล่าวอ้างและมีคำขอมาในคำฟ้องแล้ว แต่คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ชี้สองสถานเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549 และได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า “พิเคราะห์คำฟ้องคำให้การแล้วศาลจึงได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทตามความเห็นชอบของคู่ความทั้งสองฝ่ายดังนี้ คือ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 479038 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 506/2548 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” ซึ่งทนายโจทก์และทนายจำเลยได้ลงชื่อรับทราบข้อความนี้แล้วโดยไม่ได้โต้แย้ง ถือว่าสละประเด็นนี้แล้ว เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาก็คงวินิจฉัยแต่ประเด็นเรื่องเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นเรื่องความไม่สุจริตของผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 479038 แต่อย่างใด ทั้งเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ คือ คำคัดค้านและคำอุทธรณ์ก็กล่าวถึงเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งไม่มีเรื่องความไม่สุจริตของผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 479038 เช่นกัน คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 479038 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 506/2548 ก็ไม่มีประเด็นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้ขึ้นมาด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าประหว่างประเทศก็ไม่รับวินิจฉัยให้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า เครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ เห็นว่าในการพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น ย่อมจะต้องพิจารณาจากการจำหน่ายสินค้า การใช้ หรือการโฆษณาเครื่องหมายจนเป็นที่แพร่หลาย ทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี และเครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค สำหรับพยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมานั้นส่วนใหญ่เป็นหลักฐานในปี 2545 และเป็นการโฆษณาสินค้าบนอินเทอร์เน็ตรวมถึงการออกรายการในโทรทัศน์ระบบเคเบิล ซึ่งไม่แน่ว่าสาธารณชนทั่วไป หรือแม้แต่สาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับกีฬากอล์ฟในประเทศไทย หรือผู้บริโภคทั่วไปจะเข้าถึงการโฆษณาและการออกรายการดังกล่าวหรือไม่ สำหรับข้อมูลที่โจทก์กล่าวอ้างในคำอุทธรณ์ในเรื่องจำนวนสมาชิก รายได้ และค่าโฆษณา ก็นับเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเป็นจริงหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใดในประเทศไทย พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้า/บริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ