คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย อายุความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 คือมีกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี แต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 114 และ115 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องนำอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มาใช้บังคับ

ย่อยาว

คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยและต่อมาได้พิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2515 แต่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ล้มละลายกับพวกได้สมคบกันโอนทรัพย์สินของผู้ล้มละลายโดยไม่สุจริตในระหว่างสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยผู้ล้มละลายได้โอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 5891,5892 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของผู้ล้มละลายให้แก่นางเยาวลักษณ์กับพวกเป็นเงิน 300,000 บาทโดยผู้รับโอนทั้งสามต้องรับภาระหนี้สินจำนองซึ่งผู้ล้มละลายได้จำนองที่ดินดังกล่าวไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด ในขณะรับโอน การกระทำของผู้ล้มละลายเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและมุ่งหมายให้ผู้รับโอนทั้งสามได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นของผู้ล้มละลาย การโอนดังกล่าวได้กระทำกันในวันที่ 1 มีนาคม 2515 ผู้ล้มละลายถูกฟ้องให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2515 จึงเป็นการโอนทรัพย์สินในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน และ 3 ปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการโอนโดยไม่สุจริตและมุ่งหมายให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเสียหายด้วย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 114และ 115 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนดังกล่าวและให้ใส่ชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง

ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านซื้อทรัพย์พิพาทโดยสุจริตไม่เคยทราบมาก่อนว่าจำเลยเป็นหนี้ผู้ใด อาคารที่ซื้อเก่ามากผู้คัดค้านได้ซื้อไว้ในราคา 650,000 บาท ซึ่งสูงสุดอยู่แล้ว จดทะเบียนต่ำกว่าราคาจริงเพราะจะได้เสียค่าธรรมเนียมน้อยลง มิใช่เป็นการโอนชำระหนี้โดยมุ่งหมายจะให้เจ้าหนี้คนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องได้ทราบถึงการโอนเกินกว่า1 ปี คดีจึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ดังนี้ เกี่ยวกับอายุความเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 อายุความก็ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ซึ่งบัญญัติว่าการเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนแต่ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 114 และ 115 ซึ่งหาใช่การร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ ก็จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้ และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความการร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา 114 และ 115 ไว้ จึงต้องนำบทมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า อันอายุความนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้มีกำหนดสิบปี มาใช้บังคับ

สำหรับคดีเรื่องนี้เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนการโอนตามมาตรา 114 และ 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช2483 หาใช่ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังบัญญัติในมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483ไม่ จึงมีกำหนดอายุความสิบปี แล้ววินิจฉัยว่าคดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องไม่ขาดอายุความ

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น (ประเด็นอื่นตามมาตรา 114 และ 115ที่ศาลฎีกากำหนด) แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปความ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งในคำสั่งใหม่

Share