คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84-85/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามต่างถือปืนสั้นคนละกระบอกไปร่วมกันปล้นทรัพย์ที่บ้านผู้ตายโดยจี้บังคับผู้ตายให้เข้าไปในห้องนอน และบังคับให้นอนคว่ำหน้าตรงทางเข้าประตูห้องนอนจำเลยที่ 2 เหยียบหลังผู้ตายไว้ จำเลยที่ 1 ถือปืนยืนคุมอยู่ตรงศีรษะผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3เข้าไปในห้องนอนค้นหาทรัพย์ ครั้นค้นได้ทรัพย์แล้วก็เดินออกจากห้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เดินตามไป แต่พอคล้อยห่างผู้ตายได้เพียง 2 ศอก ผู้ตายก็ผงกศีรษะขึ้น จำเลยที่ 1 จึงยิงผู้ตาย 1 นัด ถูกศีรษะผู้ตายล้มลงถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยทั้งสามก็พากันหลบหนีไปดังนี้เห็นได้ชัดว่า เพราะผู้ตายผงกศีรษะหรือเงยหน้าขึ้นคงเพื่อดูหน้าคนร้ายอันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น จำเลยที่ 1 จึงยิงผู้ตาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้ร่วมกระทำในตอนนี้ด้วย ข้อเท็จจริงหาพอที่จะฟังว่ามีเจตนาร่วมกันที่จะฆ่าเจ้าทรัพย์มาแต่แรกไม่ จึงควรปรับบทฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย ไม่ใช่ปรับบทมาตรา289(7)

ย่อยาว

คดี 2 สำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกจำเลยในคดีหลังว่าจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงในคดีมีว่า จำเลยทั้งสามถือปืนสั้นคนละกระบอกไปร่วมกันปล้นทรัพย์ที่บ้านผู้ตาย โดยใช้ปืนจี้บังคับผู้ตายให้เข้าไปในห้องนอนและบังคับให้นอนคว่ำหน้าตรงทางเข้าประตูห้องนอน และจำเลยที่ 2 เหยียบหลังผู้ตายไว้โดยมีจำเลยที่ 1 ยืนคุมอยู่ที่ตรงศีรษะผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าไปในห้องนอนค้นหาทรัพย์ ครั้นค้นได้ทรัพย์แล้วก็เดินออกจากห้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เดินตามไป แต่พอห่างผู้ตายได้ประมาณ 2 ศอกผู้ตายผงกศีรษะขึ้น จำเลยที่ 1 จึงยิงผู้ตาย 1 นัด ถูกศีรษะผู้ตายล้มลงถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยทั้งสามพากันหลบหนีไป

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289(7), 340, 83 ลงโทษตามมาตรา 289(7) อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุไม่เกิน 20 ปีสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ตามมาตรา 90 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอายุไม่เกิน 20 ปี สมควรลดมาตราส่วนโทษให้ตาม มาตรา 76 หนึ่งในสาม ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ลงโทษประหารชีวิต

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ทนายจำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะจำเลยที่ 1 ได้ถอนทนายไปแล้ว

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นคนร้ายรายนี้จริงดังโจทก์ฟ้อง แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ได้ทรัพย์แล้วก็เดินออกจากห้องไปจำเลยที่ 2 พูดว่า “กลับกันเถิดเว้ย พวกมึงมันขี้ตระหนี่เศรษฐีหน้าเลือด” และเดินตามจำเลยที่ 3 ไป ตอนนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งยืนอยู่ตรงศีรษะผู้ตายก็เดินตามไปพอเดินคล้อยห่างผู้ตายไปประมาณ 2 ศอก ผู้ตายผงกศีรษะขึ้น จำเลยที่ 3 จึงยิงผู้ตายเห็นได้ชัดว่าเพราะผู้ตายผงกศีรษะหรือเงยหน้าขึ้น คงเพื่อจะดูหน้าคนร้ายอันเป็นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นขณะนั้น จำเลยที่ 1 จึงยิงผู้ตายจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้ร่วมกระทำในตอนนี้ด้วย การที่จำเลยทั้งสามกับพวกต่างมีอาวุธปืนร่วมกันปล้นทรัพย์ หาพอที่จะฟังว่ามีเจตนาร่วมกันที่จะฆ่าเจ้าทรัพย์มาแต่แรกไม่ จึงควรปรับบทฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย จำเลยที่ 2อายุกว่า 17 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปี สมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบด้วยมาตรา 53(1)ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 16 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต

Share