แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้เงินมีใจความว่ากู้เงินไปจำนวนหนึ่ง สัญญาจะใช้คืนภายในกำหนด และมีข้อความว่า ผู้กู้ได้นำนาแปลงหนึ่งมาให้ผู้กู้ยึดถือไว้เป็นประกันโดยมีบันทึกว่า “นารายนี้ข้าพเจ้าไม่นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาให้ท่านตามสัญญานี้ ข้าพเจ้าขอยอมโอนที่นารายนี้ให้แก่ท่านเป็นกรรมสิทธิ์” ดังนี้ ถือว่าเป็นสัญญากู้หนี้ธรรมดาไม่ใช่สัญญาจะซื้อขายที่นา ฉะนั้นจึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยยืมใช้สิ้นเปลือง คือตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 650 เมื่อตกลงกันล่วงหน้าว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดยอมโอนที่นาให้เป็นกรรมสิทธิ์ จึงเป็นการเอาทรัพย์สินอย่างอื่นชำระหนี้แทนเงินกันทีเดียวโดยมิได้คำนึงถึงราคานาเสียเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 656 วรรคสองและตกเป็นโมฆะตามวรรคสาม ผู้ให้กู้จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้บังคับผู้กู้โอนที่นาให้แก่ตนตามสัญญาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่นาให้โจทก์ตามสัญญา
จำเลยต่อสู้ว่า เป็นเรื่องกู้เงิน แล้วมอบนาให้ทำกินต่างดอกเบี้ย ไม่เคยตกลงขายให้โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญากู้มีใจความว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 450 บาท สัญญาจะใช้คืนภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2492 และตามสัญญากู้ข้อ 4 จำเลยได้นำนาแปลงพิพาทมาให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันโดยมีบันทึกว่า “นารายนี้ข้าพเจ้าไม่นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาให้ท่านตามสัญญานี้ ข้าพเจ้ายอมโอนที่นารายนี้ให้แก่ท่านเป็นกรรมสิทธิ์” ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าสัญญาฉบับที่กล่าวเป็นสัญญากู้หนี้ธรรมดา จึงต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยยืมใช้สิ้นเปลืองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 เรื่องนี้เป็นเรื่องกู้ยืมเงินแต่ตกลงกันล่วงหน้าว่า ถ้าไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดยอมโอนที่นาให้เป็นกรรมสิทธิ์ เป็นการเอาทรัพย์สินอย่างอื่นชำระหนี้แทนเงินกันทีเดียว โดยมิได้คำนึงราคาที่นาเสียเลยเช่นนี้จึงเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 656 วรรค 2 ตกเป็นโมฆะตามข้อความในวรรค 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลบังคับจำเลยตามข้อสัญญาดังกล่าวนั้นได้
จึงพิพากษายืน