คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องซึ่งกล่าวอ้างถึงการหมิ่นประมาท อันเป็นเหตุหย่าตามกฎหมายแพ่งนั้น ไม่เหมือนฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) วรรคสองบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูดให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์ ฉะนั้นเมื่อฟ้องของโจทก์บรรยายว่า “จำเลยได้บังอาจกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทด่าถึงโคตรวงศ์บิดามารดาโจทก์อย่างร้ายแรงต่างๆ นาๆ ” จึงเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและกรณีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากสามีภรรยากับจำเลย และขอแบ่งสินสมรสโดยกล่าวอ้างว่า จำเลยได้นางไมร์เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง และเมื่อประมาณ 4 ปีมานี้จำเลยบังอาจด่าหมิ่นประมาทถึงโคตรวงศ์บิดามารดาโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบช้า ต่าง ๆ นานาอย่างร้ายแรง และขู่เข็ญขับไล่ไม่ให้โจทก์อยู่บ้านเรือนโจทก์จึงไปอาศัยอยู่กับบุตร แล้วจำเลยหาได้เลี้ยงดูโจทก์ไม่ ปล่อยให้โจทก์อด ๆ อยาก ๆ ตลอดมาจนทุกวันนี้ได้ 4 ปีแล้ว ครั้นวันที่ 9 พฤษภาคม 2492 จำเลยบังอาจกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทด่าถึงโคตรวงศ์บิดามารดาโจทก์อย่างร้ายแรงต่าง ๆ นานาอีก ทั้งไม่ยอมให้โจทก์และบุตรทำนาที่เคยทำมาทุกปีนั้นด้วย

จำเลยต่อสู้หลายประการ และตัดฟ้องว่าเคลือบคลุมกับคดีขาดอายุความตามมาตรา 1508

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยด่าด้วยถ้อยคำอย่างไรและขาดอายุความ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การด่าคราวหลังตามฟ้อง คดียังไม่ขาดอายุความส่วนการบรรยายฟ้องโจทก์ ก็ได้บรรยายตามมาตรา 1500 (2) ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว การฟ้องว่าหมิ่นประมาทอันเป็นเหตุหย่าตามกฎหมายแพ่งนั้น ไม่เหมือนฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) วรรค 2 บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า ในคดีหมิ่นประมาทถ้อยคำพูดให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นพ้องกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษายืน

Share