แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์ตามสัญญาจ้างปล่อยปละละเลยให้มีการขายบุหรี่โดยไม่ได้รับชำระราคากรณีดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการบกพร่องอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองจากทรัพย์จำนองอันเป็นประกันค่าเสียหายนั้นได้
ร้านสหกรณ์โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าไปแล้ว แต่หาได้มีการลงบัญชีรับสินค้าไว้ไม่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการอาจไม่ได้นำสินค้าเข้าร้านสหกรณ์ก็ได้ สินค้าบางรายการลงบัญชีจ่ายเงินซ้ำสองครั้ง เงินสดคงเหลือตามบัญชีจึงผิดไปจากความเป็นจริงร้านสหกรณ์โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการจัดทำบัญชีขัดกับใบสำคัญ ซึ่งทำให้มีการจ่ายเงินไปโดยไม่มีความจำเป็นจะต้องจ่าย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้อย่างบกพร่องอันจะต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยดุจกันจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของสมุหบัญชีที่ไม่ลงบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของตนนั้น ย่อมเถียงไม่ขึ้นเพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องควบคุมสอดส่องการทำบัญชีของร้านสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับโดยใกล้ชิด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ ก็ย่อมกระทำได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้นำโรงเรือนมาจำนองเป็นประกันค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 374 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองเป็นประกัน หากจำเลยที่ 1 ก่อความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ โดยมติที่ประชุมใหญ่ โดยจำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 4 เป็นเลขานุการ จำเลยที่ 5 เป็นเหรัญญิก
จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติการอันไม่ชอบ ฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ที่วางไว้ และปฏิบัติผิดสัญญาจ้างและค้ำประกันที่ทำไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงิน 281,787.75 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท ถ้าไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 และโรงเรือนของจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 281,787.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 21,134.08 บาท ถ้าบังคับจำนองขาดอยู่อีกเท่าใด ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ชดใช้จนครบ และให้ชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 281,787.75 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทุจริตประมาทเลินเล่อหรือปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแต่ประการใด
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การมีใจความว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ประมาทเลินเล่อ
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร้องขอให้ศาลเรียกบุคคล 33 คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการของโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาตให้เรียกบุคคลตามคำร้องเลขที่ 5 ถึงเลขที่ 33 รวม 29 คนเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมทุกคนให้การทำนองเดียวกันว่าไม่ต้องรับผิด มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างใด
ระหว่างการพิจารณา นายสนอง ดีสมบัติ จำเลยที่ 5 ตาย โจทก์ขอถอนฟ้องศาลอนุญาตแล้ว สำหรับนายฉลอม มกรครรภ์ และนายสิงห์ ปกาสิทธิ์ จำเลยร่วมตาย ศาลสั่งจำหน่ายคดีแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 279,856.25 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2503 จนกว่าชำระเสร็จ โดยบังคับเอาจากทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้กับโจทก์ หากได้ไม่ครบก็บังคับเอาแก่ทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 จนครบ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระขาดอยู่เท่าใดให้จำเลยที่ 2 รับผิดแทนในวงเงิน 100,000 บาท โดยบังคับจากทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่จำนองไว้กับโจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยอื่นและจำเลยร่วมทุกคน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยคำพิพากษาฎีกาที่ 1773/2512 ว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 เสียทั้งหมด รวมทั้งไม่ให้ถามติงจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา จำเป็นต้องให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการสืบพยานจนสิ้นกระแสความ จึงจะชี้ขาดข้อเท็จจริงได้ ส่วนปัญหาคดีขาดอายุความหรือไม่ ก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานในส่วนที่เกี่ยวกับเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไปแล้วพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาให้จำเลยที่ 1รับผิดชำระเงินและบังคับจำนองจากทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นครั้งแรก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เข้าปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการร้านสหกรณ์ตามสัญญาจ้าง ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2501 จำเลยที่ 1 กลับปล่อยปละละเลยให้มีการขายบุหรี่โดยไม่ได้รับชำระราคา รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 276,726.25 บาท กรณีดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการร้านสหกรณ์บกพร่องอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว จึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองจากทรัพย์จำนองอันเป็นประกันค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สำหรับความสูญเสียเกี่ยวกับหนี้ค่าขายบุหรี่เป็นเงิน 276,726.25 บาท
ส่วนการซื้อน้ำมันก๊าดจากโรงสีธัญญาผลตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 5 มกราคม 2503 ปรากฏว่าร้านสหกรณ์ได้จ่ายเงินค่าน้ำมันก๊าดไปรวม 1,400 บาทตามบัญชีสินค้าของร้านสหกรณ์ หาได้ลงรับไว้เป็นหลักฐานอย่างใดไม่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 อาจไม่ได้นำสินค้าเข้าร้านสหกรณ์ก็ได้ สำหรับการซื้อน้ำมันก๊าดจากร้านบรรจงวานิชย์รวมเงิน 1,720 บาท ตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 3, 6, 11, 21 พฤศจิกายน 2502 รวม 5 ฉบับ ปรากฏว่าลงบัญชีรายจ่ายเงินซ้ำสองครั้ง แทนที่จะลงบัญชีชำระในปี 2502 หนเดียว กลับลงบัญชีชำระรายการเดียวกันในปี 2503 อีก เงินสดคงเหลือตามบัญชีจึงผิดไปจากความจริง โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการจัดทำบัญชีขัดกับใบสำคัญซึ่งทำให้มีการจ่ายเงินของร้านสหกรณ์ไป โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องจ่าย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้อย่างบกพร่องอันจะต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยดุจกัน จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของสมุหบัญชีที่ไม่ลงบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของตนนั้น ย่อมเถียงไม่ขึ้น เพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องควบคุมสอดส่องการทำบัญชีของร้านสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับโดยใกล้ชิด เมื่อจำเลยที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่เสียเอง จะมาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ฉะนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำต้องยอมให้โจทก์บังคับจำนองเพื่อชดใช้ความเสียหายดังกล่าวสำหรับเงิน 3,130 บาท ด้วยอีกโสดหนึ่งจึงรวมเป็นการบังคับจำนองเพื่อความเสียหายทั้งสิ้น279,856.25 บาท
อนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งประเด็นมาในคำแก้ฎีกาว่า หากจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ถ้าโจทก์บังคับจำนองแล้ว ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ แล้วยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ข้อสัญญาที่ให้จำเลยรับผิดมากกว่าทรัพย์จำนองเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 จึงตกเป็นโมฆะในข้อนี้เห็นว่า มาตรา 733 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ก็ย่อมกระทำได้ เช่นในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่พอใช้หนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดให้ผู้รับจำนองยึดทรัพย์อื่นของตนมาใช้หนี้จนครบเป็นต้น ข้อตกลงอันนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะอย่างใดไม่ ปรากฏตามสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำไว้กับโจทก์มีระบุไว้ในข้อ 2 ตรงกันว่า “ถ้าในการบังคับจำนองตามสัญญานี้ได้เงินไม่พอจำนวนที่ค้างชำระเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดใช้จำนวนเงินที่ยังขาดอยู่นั้นจนครบ” หมายความว่า ถึงจะยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอใช้หนี้แก่โจทก์ โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์อื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงและของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จำนองเป็นประกันมาใช้หนี้จนครบอีกได้ข้อโต้แย้งในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ