คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9629/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตามจำนวนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่จำเลยมีและใช้โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานรวม 5 กรรม ซึ่งสามารถแยกการกระทำจากกันเป็นราย ๆ ไปได้ จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดแยกเป็นราย ๆ ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 5 กระทง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคม รวม ๕ เครื่อง ซึ่งไม่ปรากฏหมายเลขทะเบียนพร้อมแบตเตอรี่ ๕ อัน อันเป็นอุปกรณ์ที่จำเลยใช้ประกอบกับเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และจำเลยนำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง ๕ เครื่องไปปรับใช้คลื่นโทรศัพท์ของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานแล้วจำเลยได้ใช้และนำออกให้บุคคลทั่วไปเช่าใช้โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๔, ๖, ๒๒, ๒๓ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑, ๓๒, ๓๓ ริบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมแบตเตอรี่ของกลาง เพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และริบของกลางอื่นทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๖, ๒๓ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกกระทงละ ๖ เดือน รวม ๕ กระทงเป็นจำคุก ๓๐ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑๕ เดือน ริบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมแบตเตอรี่ของกลาง จำนวน ๕ เครื่อง ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขและริบของกลางอื่นทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ให้ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง เป็นจำคุก ๖ เดือน และปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก ๓ เดือน และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตามจำนวนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่จำเลยมีและใช้โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ซึ่งสามารถแยกการกระทำจากกันเป็นราย ๆ ไปได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม ๕ กระทง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า สมควรลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของคลื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน สร้างความหวาดระแวงแก่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วไป ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคม พฤติการณ์ไม่สมควรรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ รอการลงโทษให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share