คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2652-2653/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างโจทก์ที่ 1 จะได้ทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะได้จดทะเบียนเป็นบริษัทก็ตามแต่ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อตั้งบริษัทและสัญญาดังกล่าวมี ส. ผู้เริ่มก่อการของบริษัทซึ่งต่อมาได้เป็นกรรมการบริษัทเมื่อจดทะเบียนแล้วเป็นผู้ลงชื่อในนามของบริษัทจำเลยในฐานะผู้ว่าจ้างและได้ทำสัญญากันก่อนจดทะเบียนตั้งบริษัทเพียง 7 วัน ทั้งหลังจากบริษัทมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้วก็ยอมรับผลแห่งสัญญาจ้างดังกล่าวจ้างโจทก์ที่ 1 และจ่ายค่าจ้างให้ต่อมาดังนี้ โจทก์ที่ 1 จึงเป็นลูกจ้างของบริษัทจำเลยแล้ว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 หาได้บัญญัติว่าสัญญาจ้างแรงงานจะต้องทำเป็นหนังสือไม่ เพียงแต่ตกลงจ้างและให้สินจ้างกันสัญญาจ้างแรงงานย่อมเกิดแล้ว ส. กรรมการบริษัทจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้ทำงานให้บริษัทจำเลยและจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 2 ตลอดมาเป็นเวลา 4เดือน ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าสัญญาที่ทำเป็นหนังสือดังกล่าว ส. ทำไปโดยชอบด้วยข้อบังคับของบริษัทจำเลยหรือไม่

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาคดีสองสำนวนนี้เข้าด้วยกันเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างได้เรียกเก็บเงินประกันความเสียหายคนละ 10,000 บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยมิได้มีความผิดและมิได้ทำความเสียหายแก่จำเลย จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสอง และคืนเงินประกันดังกล่าว

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้จ้างโจทก์ทั้งสอง ไม่ได้รับเงินประกันตามฟ้องไม่ได้ค้างชำระค่าจ้าง โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของบุคคลภายนอก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายด้วย

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนายสุรสิทธิ์ จันทรประสาท ผู้เริ่มก่อการและกรรมการของจำเลยทำเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528 แต่จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2528 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821นั้นการเชิดผู้ใดเป็นตัวแทน ผู้เชิดจะต้องเป็นบุคคล จำเลยจะเชิดนายสุรสิทธิ์ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางย่อมเป็นไปไม่ได้ พิเคราะห์แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยว่าการเชิดผู้ใดเป็นตัวแทน ผู้เชิดต้องเป็นบุคคลจำเลยเพิ่งเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2528 ก่อนหน้านั้นย่อมไม่มีโอกาสจะเชิดผู้ใดเป็นตัวแทนได้ แต่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4จะได้ทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะได้ทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะได้จดทะเบียนเป็นบริษัทก็ตามแต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อตั้งบริษัทและสัญญาดังกล่าวมีนายสุรสิทธิ์ผู้เริ่มก่อการของบริษัทจำเลย ซึ่งต่อมาได้เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยเมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้วเป็นผู้ลงชื่อในนามของบริษัทรัชดานคร จำกัด ผู้ว่าจ้างและสัญญาหมาย จ.4 ก็ทำก่อนจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยเพียง 7 วันเท่านั้นหลังจากบริษัทจำเลยมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว จำเลยก็ยอมรับผลแห่งสัญญาเอกสารหมาย จ.4 จ้างโจทก์ที่ 1 จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 ตลอดมาเป็นเวลาประมาณ4 เดือนครึ่งจึงได้เลิกจ้าง ดังนี้โจทก์ที่ 1 จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่า สัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 ลงชื่อกรรมการบริษัทจำเลยเพียงผู้เดียว และตราที่ประทับในสัญญาไม่เหมือนกับตราที่จดทะเบียนไว้ สัญญาจึงไม่ผูกพันจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีของโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญากันหลังจากจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว สัญญาจ้างแรงงานนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 หาได้บัญญัติว่าจะต้องทำเป็นหนังสือประการใดไม่เพียงแต่ตกลงจ้างและตกลงให้สินจ้างกันสัญญาจ้างแรงงานย่อมเกิดขึ้นแล้ว คดีนี้นายสุรสิทธิ์ กรรมการผู้เดียวทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ก็ทำงานให้จำเลย จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 2 ตลอดเวลามาเป็นเวลาประมาณ 4 เดือนย่อมถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว มิพักต้องย้อนกลับไปพิจารณาอีกว่าสัญญาที่ทำเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 จะชอบหรือมิชอบด้วยหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.5 ประการใดหรือไม่

พิพากษายืน

Share