คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36-37/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ดีกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้แก่จำเลยร่วมแล้ว จำเลยร่วมย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งยกเลิกการอนุญาตการโอนนั้นยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สิทธิที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมมีอยู่ต่อกันตามสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าเสียไป เพราะเหตุว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทยังไม่ได้รับการจดทะเบียน จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง และยังคงถือว่าจำเลยร่วมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี หากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ จำเลยร่วมจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ได้
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปหัวสิงโตประดิษฐ์ ซึ่งการจดทะเบียนที่เมืองฮ่องกง โจทก์เป็นรายแรกที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์กับสินค้าบุหรี่หลังจากที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เมืองฮ่องกงแล้ว แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ถูกเพิกถอนก็เป็นแต่เพียงจำเลยที่ 1 ขาดจากการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยนิตินัย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าต่อมาในภายหลัง จำเลยที่ 1 ก็อาจเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยพฤตินัยเนื่องจากการใช้ได้
จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ในการจำหน่ายสินค้าบุหรี่ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่ดังกล่าวของโจทก์ ย่อมไม่อาจทำให้โจทก์ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารดังกล่าวในประเทศไทยมีสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะขาดการต่อทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทยก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายฮ่องกง จำเลยที่ 2 เป็นกรมมีฐานะเป็นนิติบุคคลในกระทรวงพาณิชย์ มีจำเลยที่ 3 เป็นอธิบดีและทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ประกอบกิจการผลิต จำหน่าย และส่งออกสินค้าบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น ตั้งแต่ปี 2496 ภายใต้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า FREE (อ่านว่า ฟรี แปลว่า อิสระ เสรี เป็นต้น) และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET (อ่านว่า เจ็ท หรือ เจท หรือเจ็ต แปลว่า ก๊าซที่พ่นออกมาเป็นลำ สิ่งที่พุ่งออกมาเป็นลำ หัวท่อก๊าซ เครื่องยนต์เจ็ต เครื่องบินเจ็ต เป็นต้น) และเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ โดยใช้กับและเกี่ยวเนื่องกับสินค้าบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบของโจทก์มานานกว่า 10 ปี จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายของสาธารณชนทั่วโลก โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้แล้วกว่า 70 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยโดยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ที่มีคำบรรยายว่า MADE FROM A SPECIAL BLEND OF THE FINEST VIRGINIA TOBACCOS (แปลว่าทำจากส่วนผสมพิเศษของยาสูบเวอร์จิเนียที่ดีที่สุด) และคำว่า SPECIAL BLEND (แปลว่าส่วนผสมพิเศษ) อยู่เหนือรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ และคำว่า CIGARETTES (แปลว่า บุหรี่) อยู่ใต้คำว่า JET เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 34 รายการสินค้าบุหรี่ ซิการ์ ซิการ์ชนิดเล็กบาง ยาสูบ ที่เขี่ยบุหรี่ ไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก ตามคำขอเลขที่ 286883 หลังจากที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตได้ยื่นคำคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีคำวินิจฉัยให้ระงับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะจำเลยที่ 3 ได้มีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยปฏิเสธการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้อง เพราะมิได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์แต่อย่างใด ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงได้รับความเสียหาย ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 เรื่องการขาดต่อทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจรับฟังได้ โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าที่จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ โจทก์ไม่ใช่ตัวแทนในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่ของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET, เครื่องหมายการค้ารูปหัวสิงโตประดิษฐ์ และเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ ดีกว่าจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1090/2544 ให้จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 286883 ของโจทก์ และห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าตามฟ้องของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ เมื่อปี 2526 นางเท้ง บุญมา กรรมการของจำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นที่เมืองฮ่องกงเพื่อดำเนินธุรกิจค้าบุหรี่ และได้ร่วมกับนายเยียง ทิม ฮิง ผู้ร่วมก่อการบริษัทจำเลยที่ 1 จัดทำเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ขึ้นตามแนวความคิดของนายเท้ง บุญมา มีการว่าจ้างให้นายแฟรงกี้ เลียง ศิลปินชาวฮ่องกงเป็นผู้ออกแบบเครื่องหมายการค้าดังกล่าว หลังจากนั้นนายเยียง ทิม ฮิง ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่เมืองฮ่องกง สำหรับสินค้าจำพวก 34 รายการสินค้าบุหรี่ ซิกาแรต อุปกรณ์การสูบบุหรี่ ต่อมานายเยียง ทิม ฮิง ได้โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2528 ทะเบียนเลขที่ 96520 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 45 (จำพวกเก่า) รายการสินค้า บุหรี่ ซิกาแรต ในการประกอบธุรกิจบุหรี่ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีโรงงานผลิตบุหรี่เอง จำเลยที่ 1 จึงว่าจ้างบริษัทผลิตบุรี่ทำการผลิตบุหรี่ให้แก่จำเลยที่ 1 ภายใต้เครื่องหมายการค้าอักษาโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่1 เคยว่าจ้างบริษัทฟิลิป มอริสเอเชีย จำกัด เป็นผู้ผลิตบุหรี่ให้กับจำเลยที่ 1 ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2526 ถึง 2527 ภายหลังนายธีระศักดิ์ ไพโรจน์สถาพร ผู้จัดการฝ่ายตลอดของสหกรณ์ผู้ผลิตใบยาสูบไทย จำกัด ได้แนะนำโรงงานบุหรี่ในแถบเอเชียตะหวันออกเฉียงใต้รวมถึงโรงงานของโจทก์ ซึ่งเป็นลูกจ้างของสหกรณ์ผู้ผลิตใบยาสูบไทย จำกัด ให้นายเท้ง พิจารณา จำเลยที่ 1 จึงติดต่อโจทก์เพื่อว่าจ้างให้ผลิตบุหรี่ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยมีนายธีระศักดิ์เป็นผู้ประสานงาน ก่อนหน้าที่โจทก์จะรู้จักกับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เคยผลิตบุหรี่ภายใต้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์มาก่อน โจทก์ไม่เคยเป็นเจ้าของหรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อน จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียในนามของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่เคยโต้แย้งสิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ทำการผลิตสินค้าบุหรี่ให้แก่จำเลยที่ 1 ภายใต้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ และรูปแบบซองบุหรี่ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดตั้งแต่ปลายปี 2527 เป็นต้นมา เพื่อออกจำหน่ายในประเทศแถบอินโดจีนเป็นหลัก โดยจำเลยที่ 1 มีแผนการตลาดเข้ามายังประเทศไทยเพื่อส่งผ่านไปยังประเทศต่าง ๆ อีกทอดหนึ่ง แต่ปรากฏว่าในปลายปี 2538 โจทก์ได้ผิดข้อตกลงโดยการเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าบุหรี่ที่เคยผลิตให้แก่จำเลยที่ 1 ตามปกติ ด้วยการเพิ่มข้อความที่ซองบุหรี่ว่า “made under the authority of Wilson Tobacco Company, London, English” โดยมิได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ก่อน ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของสินค้า จำเลยที่ 1 ได้ว่ากล่าวโจทก์และโจทก์ได้ขอโทษพร้อมยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นโจทก์ยังทำผิดข้อตกลงอีกด้วยการแย่งจำหน่ายบุหรี่ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ในประเทศแถบอินโดจีนและพยายามโฆษณาว่าบุหรี่ดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ อีกทั้งโจทก์ยังได้แอบนำเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนในประเทศต่าง ๆ โดยไม่มีสิทธิ จนถึงต้นปี 2539 โจทก์ไม่ยอมผลิตบุหรี่ให้กับจำเลยที่ 1 อีก แต่โจทก์กลับทำการผลิตบุหรี่ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว และส่งออกจำหน่ายในประเทศแถบอินโดจีนเอง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสินค้าจำหน่ายอีกต่อไป จำเลยที่ 1 ได้ไปติดต่อกับโรงงานผลิตบุหรี่ที่ประเทศมาเลเซียแต่ถูกโจทก์ขัดขวาง การที่โจทก์นำเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย ถือเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่จำเลยที่ 1 ขาดการต่ออายุเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามทะเบียนเลขที่ 96520 เนื่องจากสำคัญผิดในข้อกฎหมาย ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้บริษัทอื่นผลิตบุหรี่และยังคงใช้เครื่องหมายการค้าตามฟ้องมาโดยตลอด นายเท้ง บุญมา มีสัญชาติไทย ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและไม่ได้มีอำนาจบังคับบัญชาคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นไปตามมติของกรรมการมิได้เกิดจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นประธานกรรมการแต่เพียงลำพังผู้เดียว และจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้แทนของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ดังนั้น การเพิกถอนคำวินิจฉัยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า มิใช่อำนาจของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมในการออกคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ เพราะเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 57/2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ที่ 1090/2544 เป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องและสุจริต โจทก์ทราบเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 แต่ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน โจทก์นำเครื่องหมายการค้าที่เป็นของจำเลยที่ 1 ไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต แม้โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศต่าง ๆ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้หรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสิงโตประดิษฐ์ หรือเครื่องหมายการค้าที่มีรูปหัวสิงโตเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายไว้ก่อนจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงไม่เพียงพอจะรับฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปหัวสิงโตประดิษฐ์ดีกว่าจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายสมบัท โคว ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้นายสมบัท โคว เข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ คำขอเลขที่ 286883 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2538 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้ระงับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 96520 ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2528 แต่ขาดการต่อทะเบียนเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2538 จำเลยที่ 1 จึงยื่นขอจดทะเบียนใหม่เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 เป็นคำขอเลขที่ 288692 สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 286883 ทะเบียนเลขที่ 96520 และคำขอเลขที่ 288692 เป็นอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ในลักษณะเช่นเดียวกัน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่าจำเลยร่วมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีและมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความในคดีนี้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยร่วมยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 288692 ให้แก่จำเลยร่วมตามสัญญาฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2542 และได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2546 จำเลยร่วมจึงถูกโต้แย้งสิทธิและเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีนี้ โจทก์ยื่นคำร้องวันที่ 8 กันยายน 2546 ขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยร่วมออกจากสารบบความเนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งยกเลิกการอนุญาตการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 อนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วม และยกคำร้องของโจทก์โดยให้เหตุผลว่า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งเพิกถอนการโอนของจำเลยร่วมด้วยเหตุไม่มีโนตารีปับลิกรับรอง นอกจากนั้นคู่ความยังโต้เถียงกันอยู่ว่าคำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าชอบหรือไม่ การเพิกถอนการโอนดังกล่าวยังไม่เสร็จเด็ดขาดประกอบกับจำเลยร่วมได้เตรียมพยานมาพร้อมที่จะสืบแล้ว จึงให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอให้แสดงว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ดีกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 288692 ให้แก่จำเลยร่วมแล้ว จำเลยร่วมย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในผลแห่งคดีนี้ เพราะปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้ประการหนึ่งคือ โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์หรือไม่ สำหรับการที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งยกเลิกการอนุญาตการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมนั้นยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สิทธิที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมมีอยู่ต่อกันตามสัญญาโอนเครื่องหมายการค้านั้นเสียไป เพราะเหตุว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 288692 ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าการโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว สัญญาดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับต่อกันได้และยังคงถือว่าจำเลยร่วมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายโดยตรงในผลแห่งคดีนี้ เพราะหากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ จำเลยร่วมก็ได้รับประโยชน์ด้วย จำเลยร่วมจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ได้ สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 298249 ในทำนองว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิที่จะโอนให้แก่จำเลยร่วม ถือเป็นการทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญ มีผลให้สัญญาโอนตกเป็นโมฆะก็ดี จำเลยที่ 1 ถูกศาลสูงแห่งเมืองฮ่องกงมีคำสั่งให้เลิกกิจการและให้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และมีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 แล้ว กรรมการหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงดำเนินกิจการหรือทำนิติกรรมใด ๆ เพื่อให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 อีกต่อไปไม่ได้ก็ดี ล้วนเป็นข้อที่โจทก์เพิ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ โดยไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นเป็นที่ยุติแล้วหรือไม่ ทั้งโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงในเรื่องดังกล่าวมีอยู่เช่นใด จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนอุทธรณ์อื่น ๆ ของโจทก์ในประเด็นนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกเพราะไม่ทำให้ผลในประเด็นนี้เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้นายสมบัท โคว เข้าเป็นจำเลยร่วม และยกคำร้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ดีกว่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งในทำนองว่า พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยไม่น่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่า และการรับฟังพยานปากนายเยียง ทิม ฮิง ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 113 เพราะพยานเบิกความด้วยการอ่านข้อความที่จัดเตรียมมา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและไม่ใช่พยานผู้เชี่ยวชาญ เห็นว่า ในบันทึกคำเบิกความของนายเยียง ทิม ฮิง ลงวันที่ 23 กันยายน 2546 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้บันทึกไว้ว่า “ทนายโจทก์คัดค้านว่า พยานเบิกความตามเอกสารภาษาจีนที่วางไว้ตรงหน้าพยาน ซึ่งทนายโจทก์เพิ่งสังเกตเห็น เป็นเอกสารรวม 4 แผ่น ซึ่งศาลเรียกจากพยานให้นำมารวมไว้ในสำนวนท้ายคำเบิกความพยานปากนี้ ทนายจำเลยร่วมถามว่า เอกสารที่วางตรงหน้าพยานที่ศาลเรียกมารวมสำนวนนั้น พยานได้เปิดอ่านดูขณะเบิกความหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้เปิดดู แต่เบิกความจากความทรงจำ” ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ชัดแจ้งว่านายเยียง ทิม ฮิง ได้เบิกความด้วยการอ่านจากเอกสารจริงหรือไม่ ทั้งปรากฏว่าทนายโจทก์คัดค้านหลังจากที่มีการบันทึกคำพยานปากนี้ไปเป็นจำนวนมากแล้ว ประกอบกับศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำสั่งให้นำเอกสารดังกล่าวรวมไว้ในสำนวนและให้นายเยียง ทิม ฮิง เบิกความต่อไป โดยทนายโจทก์มีโอกาสถามค้านพยานปากนี้อย่างเต็มที่แล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะเกิดความเสียเปรียบในเชิงคดีต่อฝ่ายโจทก์ นอกจากนั้นในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 28 ยังมีบทบัญญัติให้พยานเบิกความโดยดูจากบันทึกทบทวนความจำได้โดยได้รับอนุญาตจากศาล และให้ศาลรวมบันทึกดังกล่าวในสำนวน ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณารับฟังคำเบิกความของนายเยียง ทิม ฮิง จึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด
สำหรับปัญหาเรื่องโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ดีกว่าจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปหัวสิงโตประดิษฐ์ ซึ่งจดทะเบียนที่เมืองฮ่องกงเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2526 ตามหนังสือพร้อมคำแปล เอกสารหมาย ล.11 ส่วนโจทก์มีนางสาวซินทา สุนาดี เบิกความว่า โจทก์เป็นรายแรกที่ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์กับสินค้าบุหรี่เมื่อปี 2527 จึงเป็นเวลาหลังจากที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เมืองฮ่องกงข้างต้นแล้ว แม้จะมีข้อเท็จจริงต่อมาว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวถูกเพิกถอนตามหนังสือพร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ.25 และ จ.26 แต่ก็คงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ขาดจากการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยนิตินัย แต่เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อมาในภายหลัง จำเลยที่ 1 ก็อาจเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยพฤตินัยเนื่องจากการใช้ได้ จึงต้องพิจารณาต่อไปในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์กับสินค้าบุหรี่เพราะจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวหรือไม่ โจทก์มีพยานมาเบิกความจำนวน 3 ปาก คือ นายปรีดา สนธิเศวต นางสาวซินทา สุนาดี และนางสาวซง ทง เม้ง ซูซาน นายปรีดาเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ที่พยานเบิกความว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่นั้นเป็นการได้รับคำบอกเล่ามา ส่วนนางสาวซง ทง เม้ง ซูซาน เบิกความว่า พยานทำงานเป็นเลขานุการที่บริษัทยูนิโก้ เทรดดิ้ง พีทีอี จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่ และเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวให้โจทก์ บริษัทยูนิโก้ เทรดดิ้ง พีทีอี จำกัด แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวเพื่อขายผลิตภัณฑ์บุหรี่ที่ผลิตโดยโจทก์ในบางประเทศ ตามหนังสือพร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ.36 และ จ.37 แต่เบิกความตอบทนายจำเลยร่วมถามค้านว่า พยานทำหน้าที่ช่วยผู้อำนวยการเรื่องต่าง ๆ และดูแลธุรการ เริ่มทำงานในปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) หนังสือพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.36 และ จ.37 เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นก่อนพยานเข้าทำงานพยานจึงไม่ทราบ ส่วนใหญ่พยานติดต่อกับโจทก์เรื่องการจองห้องพักโรงแรม พยานไม่เคยติดต่อกับจำเลยที่ 1 โดยตรง พยานโจทก์ทั้ง 2 ปากดังกล่าวจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าและมีน้ำหนักน้อย สำหรับนางสาวซินทา สุนาดี เบิกความในทำนองว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่โดยอ้างหนังสือพร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ.36 และ จ.37 ประกอบกับคำให้การของนายธีระศักดิ์ ไพโรจน์สถาพร เอกสารหมาย จ.38 ถึง จ.40 ซึ่งฝ่ายจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมมีนางเนลลี่ โคว เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ติดต่อให้โจทก์ผลิตสินค้าบุหรี่ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่ โดยอ้างเทเล็กซ์ติดต่อเรื่องรสชาติของบุหรี่พร้อมคำแปล เอกสารหมาย ล.20 และ ล.21 เทเล็กซ์ติดต่อเรื่องการพิมพ์เครื่องหมายการค้าบนกล่องและแท่นพิมพ์พร้อมคำแปล เอกสารหมายเลข ล.3 ถึง ล.9 เทเล็กซ์ติดต่อเรื่องที่โจทก์ขอหนังสือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.13 ล.14 และ ล.42 เทเล็กซ์เรื่องแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนในการดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพร้อมคำแปล เอกสารหมาย ล.14/2 เทเล็กซ์เรื่องการชำระค่าเสียหายกรณีพิมพ์ข้อความอื่นพร้อมคำแปล เอกสารหมาย ล.19 และเทเล็กซ์การติดต่อโดยตรงกับโจทก์พร้อมคำแปล เอกสารหมาย ล.16 ถึง ล.18 นอกจากนี้ฝ่ายจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมยังมีนายธีระศักดิ์มาเบิกควายืนยันว่า พยานเป็นผู้ติดต่อแนะนำโจทก์ให้แก่นายเท้ง บุญมา กรรมการของจำเลยที่ 1 เห็นว่า หนังสือพร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ.36 และ จ.37 เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่ซึ่งฝ่ายจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมโต้แย้งว่าเป็นหลักฐานที่โจทก์กับบริษัทยูนิโก้ เทรดดิ้ง พีทีอี จำกัด จัดทำขึ้นเองเพื่อประโยชน์ทางการเงิน ส่วนคำให้การของนายธีระศักดิ์ตามหนังสือพร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ.39 ข้อ 4 ที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวในการจำหน่ายบุหรี่ JET ของโจทก์นั้น นายธีระศักดิ์ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามถ้านอธิบายว่า พยานได้ให้การในเวลาต่อมาตามข้อความในหนังสือพร้อมคำแปล เอกสารหมาย จ.40 ข้อ 3 ว่า ตามที่พยานได้ให้การไว้ในข้อ 4 นั้น คำว่า “Exclusive Agent” หมายความว่า โจทก์ในฐานะผู้ผลิตบุหรี่จะผลิตบุหรี่ JET ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อเป็นเช่นนี้ พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีน้ำหนักน้อย ในขณะเดียวกัน นางสาวซินทา สุนาดี พยานโจทก์ เบิกความตอบทนายจำเลยร่วมถามค้านว่า การจำหน่ายสินค้าบุหรี่ครั้งแรกที่เมืองฮ่องกงนั้น พยานได้รับแจ้งว่าเป็นการจำหน่ายให้แก่จำเลยที่ 1 พยานทราบในภายหลังว่า หลังจากวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) จำเลยที่ 1 กับบริษัทฟิลิปมอริส อินคอร์ปอเรเต็ด ทำธุรกิจบุหรี่ร่วมกัน เทเล็กซ์พร้อมคำแปล เอกสารหมาย ล.16 ในส่วนที่เกี่ยวกับปี ค.ศ.1984 ถึง ค.ศ.1994 (พ.ศ.2527 ถึง 2537) นั้น จำเลยที่ 1 จะสั่งซื้อบุหรี่จากโจทก์โดยตรง พยานไม่ได้ร่วมประชุมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) โจทก์เคยชำระค่าเสียหาย 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการเจือสมกับพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม และทำให้พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ เมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้เช่นนี้ คดีย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ดีกว่าจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ในการจำหน่ายสินค้าบุหรี่ แต่ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าบุหรี่เช่นนี้ ย่อมไม่อาจทำให้โจทก์ซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยตามคำขอเลขที่ 286883 มีสิทธิในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะขาดการต่อทะเบียนเครื่องหมายการค้า และปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยก็ตาม สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของโจทก์นั้นเป็นอุทธรณ์โต้แย้งพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยเพื่อคัดค้านการรับฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ แต่เมื่อคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า JET และรูปหัวสิงโตประดิษฐ์ดีกว่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ และพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้เช่นนี้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่น ๆ ดังกล่าวอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share