แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สินค้ารถยนต์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้าย พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำจำกัดความไว้แล้ว การที่กรมสรรพสามิตจำเลยออกคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 ให้รถยนต์ซึ่งทำจากชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย แม้มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับและด้านหลังเปิดโล่งเป็นรถยนต์นั่งตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 05.01 ด้วย เป็นการเปลี่ยนประเภทรถยนต์กระบะตามความหมายของรถยนต์กระบะ ให้เป็นรถยนต์นั่ง มิใช่การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายในขอบอำนาจโดยเคร่งครัด ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่
ระหว่างที่รถยนต์คันของโจทก์ถูกจำเลยยึดไว้ ย่อมทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ และระยะเวลาที่ผ่านไปเกือบ 2 ปี ย่อมทำให้รถยนต์ที่จอดทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งานเก่าลง อุปกรณ์บางอย่างหมดสภาพหรือหมดอายุการใช้งานซึ่งเป็นเหตุให้รถยนต์มีราคาลดลงจากเดิม อันเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์มิได้ใช้รถยนต์ และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ให้แก่โจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะบรรทุกหมายเลขทะเบียน 2 ฒ – 5050 กรุงเทพมหานคร โดยซื้อมาจากนายโอภาส เรืองปัญญาวุฒิ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 ในราคา 350,000 บาท และนายโอภาสจดทะเบียนไว้ในประเภทรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดปทุมธานี โดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยมีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 เวลากลางวัน เจ้าหน้าที่ของจำเลยขณะปฏิบัติหน้าที่ให้แก่จำเลย ได้จับกุมและยึดรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อตรวจสภาพ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งแก่โจทก์ด้วยวาจาว่า โจทก์จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์เป็นจำนวนเงิน 492,860 บาท และต้องเสียภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยอีกจำนวน 49,286 บาท เนื่องจากใช้แชสซีส์ของรถยนต์นั่งมาประกอบเป็นรถยนต์ โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งว่าจะต้องยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้จนกว่าโจทก์จะชำระภาษีให้แก่จำเลยครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อยจึงจะรับรถคืนไปได้ โจทก์โต้แย้งคัดค้านว่า รถยนต์ของโจทก์มิใช่รถยนต์นั่งและได้จดทะเบียนไว้ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดปทุมธานีว่า เป็นรถยนต์กระบะบรรทุกซึ่งตามกฎหมายไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยคงยืนยันเช่นเดิม และอ้างว่าเป็นการดำเนินการตามคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมในการที่จำเลยยึดรถยนต์ของโจทก์ และสั่งให้โจทก์ต้องเสียภาษีสรรพสามิต คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาโดยรับฟังคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้วมีคำวินิจฉัยที่ 36/2541 ว่า รถยนต์ของโจทก์มิใช่รถยนต์นั่งที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิต ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือแจ้งผลคำวินิจฉัยให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงรู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้ที่จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว วันที่ 11 สิงหาคม 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากจำเลย โจทก์ได้รับรถยนต์คืนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2541 ในสภาพเสียหายและเสื่อมสภาพทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถ นับจากวันที่จำเลยยึดรถยนต์ของโจทก์เป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน 11 วัน ในอัตราวันละ 1,500 บาท เป็นเงิน 975,000 บาท และต้องขาดทุนจากการขายรถยนต์ไปตามสภาพเป็นเงิน 200,000 บาท การกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,175,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของรถยนต์กระบะบรรทุกหมายเลขทะเบียน 2 ฒ – 5050 กรุงเทพมหานคร แต่เป็นของนายภัทรพงษ์ ไกรลาสสุวรรณ ซึ่งซื้อมาจากนายโอภาส เรืองปัญญาวุฒิ จำเลยตรวจยึดรถยนต์คันดังกล่าวเพราะเป็นรถยนต์ที่มีส่วนประกอบบางส่วนเป็นชิ้นส่วนของรถยนต์นั่งซึ่งต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 การปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ของจำเลยหาได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่ประการใดไม่ แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตใจและเห็นว่าถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์และจำนวนเงินที่โจทก์อ้างว่าขาดทุนจากการขายรถยนต์คันดังกล่าว และหากจำเลยต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ และจำนวนเงินที่โจทก์อ้างว่าขาดทุนแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดตามจำนวนที่โจทก์เรียกร้องซึ่งสูงเกินความจริง กล่าวคือ ค่าขาดประโยชน์ไม่เกินวันละ 200 บาท ค่าขาดทุนเนื่องจากรถยนต์เสียหายและเสื่อมสภาพนั้นเป็นความเสียหายหรือเสื่อมสภาพตามปกติธรรมชาติของรถยนต์เองและไม่เกิน 10,000 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 750,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงยุติฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ฒ – 5050 กรุงเทพมหานคร โดยซื้อมาจากนายโอภาส เรืองปัญญาวุฒิ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 ในราคา 350,000 บาท รถยนต์คันดังกล่าวได้จดทะเบียนไว้ในประเภทรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดปทุมธานีในวันที่ 31 สิงหาคม 2538 ตามสำเนารายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.5 จำเลยมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นหน่วยงานของรัฐ ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ของจำเลยยึดรถยนต์คันพิพาทของโจทก์ไว้ตรวจสอบปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทมีแชสซีส์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัยมาประกอบเป็นตัวรถและไม่เสียภาษีสรรพสามิต เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงแจ้งให้โจทก์เสียภาษีเป็นเงิน 500,000 กว่าบาท โดยอาศัยคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 สำเนาเอกสารหมาย จ.11 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ได้ทำหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรม คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยคำร้องทุกข์และไต่สวน โดยได้เรียกพยานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย ฝ่ายกรมการขนส่งทางบก และฝ่ายกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมมาชี้แจงแล้ววินิจฉัยว่า รถยนต์คันพิพาทไม่ใช่รถยนต์นั่งไม่จำต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 จึงมีมติว่าจำเลยหรือเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่มีอำนาจยึดรถยนต์ของโจทก์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่า ให้คืนรถยนต์แก่โจทก์ และเสนอความเห็นให้จำเลยแก้ไขคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามสำเนาคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ที่ 36/2541 เอกสารหมาย จ.15 และแจ้งผลการวินิจฉัยให้โจทก์ทราบ ตามหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 เอกสารหมาย จ.16 ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2540 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้ไปรับรถยนต์คืนตามเอกสารหมาย จ.18 การที่จำเลยคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์เป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โจทก์ได้รับรถยนค์คืนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2541 รวมระยะเวลาที่จำเลยยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้เป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน 11 วัน โจทก์ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายวีระ พงษ์วุฒิธรรม ตามสำเนารายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.21 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยึดรถยนต์ของโจทก์ตามคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยอาศัยคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 เรื่อง คำวินิจฉัยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเกี่ยวกับรถยนต์ (ฉบับที่ 2) ซึ่งมีข้อความตามคำสั่งว่า ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และ (ก) ของ (2) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ลงวันที่ 22 เมษายน 2528 ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสามิตมีคำวินิจฉัยดังนี้ ข้อ 1 ให้รถยนต์ซึ่งทำจากชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย แม้ที่นั่งตอนเดียวสำหรับคนขับและด้านหลังเปิดโล่ง เป็นรถยนต์นั่งตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตประเภทที่ 05.01 ด้วย จึงมีข้อพิจารณาว่า จำเลยออกคำสั่งตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า หลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตามความในข้อ 2 (ก) แห่งประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวนั้น กำหนดไว้ว่า ถ้าเห็นได้ว่ามีสินค้าชนิดใดอาจจัดเข้าได้สองประเภทหรือมากกว่านั้น ให้ถือหลักการจำแนกประเภทว่า ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของสินค้าไว้โดยชัดแจ้ง และอีกประเภทหนึ่งระบุลักษณะสินค้าไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยชัดแจ้ง กรณีสินค้ารถยนต์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำจำกัดความรถยนต์นั่งหมายความว่า รถเก๋ง หรือรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้างและหรือด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่างและมีที่นั่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด ส่วนรถยนต์กระบะหมายความว่ารถยนต์ที่มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับและตอนหลังเป็นกระบะบรรทุกซึ่งเปิดโล่งจนถึงท้ายรถโดยไม่มีหลังคา การที่จำเลยออกคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 ข้อ 1 ให้รถยนต์ซึ่งทำจากชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย แม้มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับและด้านหลังเปิดโล่งเป็นรถยนต์นั่งตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 05.01 ด้วยนั้น เป็นการเปลี่ยนประเภทรถยนต์กระบะตามความหมายของรถยนต์กระบะตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ที่แก้ไขแล้ว ให้เป็นรถยนต์นั่ง จึงเป็นการออกคำสั่งให้ถือเอารถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์นั่งเป็นรถยนต์นั่งที่ต้องเสียภาษีอันเป็นการเพิ่มประเภทรถยนต์ให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นกว่าที่กฎหมายกำหนด หาใช่การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายในขอบอำนาจโดยเคร่งครัด ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตั้งแต่โจทก์ถูกยึดรถยนต์พิพาทเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 จึงขาดอายุความ เห็นว่า จำเลยยืนยันมาโดยตลอดว่าปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์เพิ่งรู้ว่าคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 437/2537 ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ ฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 คำนวณถึงวันฟ้องไม่เกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 ในราคา 350,000 บาท และใช้รถยนต์คันพิพาทไปเป็นเวลา 1 ปีเศษ จึงถูกจำเลยยึดรถยนต์พิพาทเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 และโจทก์ได้รับรถยนต์พิพาทคืนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2541 เห็นว่า ระหว่างที่รถยนต์คันพิพาทของโจทก์ถูกจำเลยยึดไว้นั้น ย่อมทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันพิพาท และระยะเวลาที่ผ่านไปเกือบ 2 ปี ย่อมทำให้รถยนต์คันพิพาทที่จอดทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งานเก่าลง อุปกรณ์บางอย่างของรถยนต์หมดสภาพหรือหมดอายุการใช้งานซึ่งเป็นเหตุให้รถยนต์คันพิพาทมีราคาลดลงจากเดิม อันเป็นความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์จากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์มิได้ใช้รถยนต์คันพิพาท และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์มีนายภัทรพงษ์ ไกรลาสสุวรรณ กรรมการของโจทก์เบิกความว่า โจทก์ใช้รถยนต์คันพิพาทเป็นยานพาหนะบรรทุกสัมภาระหรือสิ่งของที่ต้องใช้ในการก่อสร้างและส่งคนงานไปทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ เมื่อจำเลยยึดรถยนต์คันพิพาทไป โจทก์ต้องจ้างรถแท็กซี่หรือเหมารถอื่น รถให้เช่าได้ค่าเช่าวันละ 1,500 บาท เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนคำเบิกความดังกล่าวของนายภัทรพงษ์ ทั้งสภาพและประเภทของรถยนต์คันพิพาทของโจทก์เป็นรถยนต์กระบะซึ่งโจทก์ซื้อมาในราคา 3500,000 บาท และได้ใช้งานมากกว่า 1 ปี ก่อนถูกจำเลยยึดไว้ จึงเชื่อว่าประโยชน์ที่โจทก์จะได้จากตัวรถยนต์คันพิพาทโดยตรงเมื่อหักค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้วไม่มากถึงวันละ 1,500 บาท ดังที่โจทก์ขอ และไม่มากถึงวันละ 1,000 บาท ดังที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ ส่วนค่าเสื่อมราคาของรถยนต์คันพิพาทนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายภัทรพงษ์พยานโจทก์กับนายจรัล เทวรัตน์ เจ้าหน้าที่บริหารงานสรรพสามิต 7 ผู้ตรวจยึดรถยนต์คันพิพาทและผู้ส่งคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์และนายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานสรรพสามิต 7 พยานจำเลยประกอบสำเนาภาพถ่ายและบันทึกส่งคืนรถยนต์ฯ หมาย ล.1 และ ล.2 ว่า รถยนต์คันพิพาทเป็นรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนเก่าของรถยนต์ที่ใช้งานแล้ว นำเข้าจากต่างประเทศโดยประกอบในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ของจำเลยนำรถยนต์คันพิพาทจอดไว้ในโรงจอดรถโครงเหล็กมีหลังคากันแดดและกันฝนของจำเลยตามสำเนาภาพถ่าย ล.1 โดยนายภัทรพงษ์ใส่กุญแจล็อกพวงมาลัยรถยนต์ไว้ วันที่นายภัทรพงษ์รับคืนรถยนต์คันพิพาทเครื่องยนต์สามารถใช้งานได้ และขับเคลื่อนเดินหน้าและถอนหลังได้ตามปกติตามบันทึกส่งคืนรถยนต์ฯ เอกสารหมาย ล.2 แสดงว่าจำเลยได้จัดการดูแลรถยนต์คันพิพาทพอสมควร อุปกรณ์บางอย่างของรถยนต์คันพิพาทที่เสียหายและใช้การไม่ได้นั้นมีทั้งเกิดจากการที่ไม่ได้ใช้งานตามปกติ หมดสภาพไปตามอายุของการใช้งาน และสภาพรถเก่าลงตามระยะเวลาที่จอดไว้เกือบ 2 ปี ย่อมทำให้ราคารถยนต์คันพิพาทเสื่อมลงบ้างแต่ไม่มากนักเพราะรถยนต์คันพิพาทประกอบจากชิ้นส่วนเก่าของรถยนต์ที่ใช้งานมาแล้ว ทั้งก่อนถูกจำเลยยึดไว้นั้นได้ใช้งานมาแล้วกว่า 1 ปี ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดประโยชน์จากการที่โจทก์มิได้ใช้รถยนต์คันพิพาทวันละ 1,000 บาท เป็นเวลา 650 วัน เป็นเงินจำนวน 650,000 บาท และค่าเสื่อมราคาของรถยนต์คันพิพาทเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 750,000 บาท ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของราคารถยนต์คันพิพาทที่โจทก์ซื้อมาเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่สูงเกินไปอย่างมาก เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดดังกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของโจทก์รวมสองรายการดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.