คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุให้จำเลยที่4รับผิดในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่เกินจำนวน500,000บาทต่ออุบัติเหตุ1ครั้งแต่ในมูลคดีเดียวกันนี้จำเลยที่4ถูกองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยฟ้องเรียกค่าเสียหายศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเงิน144,580.48บาทซึ่งจำเลยที่2ในคดีดังกล่าวคือจำเลยที่4คดีนี้จำเลยที่4ได้ชำระเงิน195,183บาทไปแล้วเมื่อรวมกับความรับผิดของจำเลยทั้งสองที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้จำนวน2,620,210.80บาทรวมยอดความรับผิดทั้งสิ้น2,764,791.28บาทจึงเกินวงเงินที่จำเลยที่4จะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำกัดความรับผิดไว้เพียง500,000บาทดังนั้นจำเลยที่4จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์คดีนี้เฉลี่ยตามส่วนที่ได้รับความเสียหายโดยต้องรับผิดเพียง473,853.27บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 2,820,688.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 2,627,715.43 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ครอบครองและขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-6691 นนทบุรี จำเลยที่ 2มิได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 และมิได้ครอบครองใช้หรือจ้างให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 ไม่เคยร่วมตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือสั่งหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1และที่ 2 รับจ้างถมที่ดิน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-6691 นนทบุรี แต่เกิดจากความประมาทของโจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่ยอมให้แขวนสายเคเบิลโทรศัพท์ใช้อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวสายเคเบิลไม่ได้มาตราฐานตามกฎหมายไม่มีความมั่นคงแข็งแรง และแขวนสายเคเบิลหย่อนยานอยู่ในระดับต่ำไม่ได้เกณฑ์ตามที่ทางราชการกำหนดความเสียหายของโจทก์ไม่เกิน50,000 บาท จำเลยที่ 4 ยอมรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-6691 นนทบุรี แต่เมื่อผู้เอาประกันไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน แต่หากต้องรับผิดก็ไม่เกิน 500,000 บาท ต่ออุบัติเหตุ 1 ครั้ง ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน2,620,210.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลย ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา และยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เพิ่มเติมฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่9 เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6691 นนทบุรี ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.1 ซึ่งมีข้อ 2.3 ระบุว่า จำนวนเงินที่ต้องรับผิดไม่เกินจำนวน 500,000 บาทต่ออุบัติเหตุ 1 ครั้ง ได้ขับรถคันดังกล่าวโดยประมาทเป็นเหตุให้เกี่ยวดึงสายโทรศัพท์ที่พาดอยู่กับเสาไฟฟ้าคอนกรีตของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 2,620,210.80 บาทโดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินเงินดังกล่าวแต่ไม่เกิน 500,000 บาท และในอุบัติเหตุครั้งนี้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 4ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-6691นนทบุรี ที่จำเลยที่ 1 ขับทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมายจ.5 นี้ด้วย ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในเหตุละเมิดครั้งนี้เป็นจำนวนเงินเท่าใดจากในวงเงิน 500,000 บาทซึ่งจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 4ฎีกาและยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาว่า เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2.3 ระบุให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรับผิดไม่เกิน 500,000 บาท ต่ออุบัติเหตุ 1 ครั้งแล้ว และเมื่อทั้งโจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 จากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอุบัติเหตุเพียงครั้งเดียวแล้ว และจำเลยที่ 4 ก็ได้ชำระเงินให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 21093/2533 หมายเลขแดงที่ 15792/2535ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดแล้วเป็นจำนวน 195,183 บาทดังนั้นจำเลยที่ 4 ยังคงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในคดีนี้เพียงจำนวน 304,817 บาทนั้น เห็นว่า เมื่อตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 2.3 ระบุให้จำเลยที่ 4 รับผิดในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่เกินจำนวน 500,000 บาทต่ออุบัติเหตุ1 ครั้ง และปรากฏจากคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่าในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 21093/2533 หมายเลขแดงที่ 15792/2535ซึ่งจำเลยที่ 4 ถูกองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยฟ้องเรียกค่าเสียหายในฐานละเมิดอันเป็นมูลคดีเดียวกันกับคดีนี้นั้นศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 และจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งคือจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ก็ได้นำเงินมาชำระให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นจำนวน 195,183 บาทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2ซึ่งโจทก์ก็มิได้ปฏิเสธว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยที่ 4 ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โจทก์คงอ้างในคำคัดค้านเพียงว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างในคำร้องดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือไม่ โจทก์ไม่ทราบและไม่ขอยืนยันว่าเป็นความจริงเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 จริงแต่ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเงิน144,580.48 บาท เมื่อรวมกับความรับผิดของจำเลยทั้งสองที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในคดีนี้ จำนวน 2,620,210.80 บาท รวมยอดความรับผิดทั้งสิ้น 2,764,791.28 บาท จึงเกินวงเงินที่จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำกัดความรับผิดไว้เพียง 500,000 บาทดังนั้น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์คดีนี้เฉลี่ยตามส่วนที่ได้รับความเสียหายโดยต้องรับผิดเพียง473,853.27 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1แต่ไม่เกิน 473,853.27 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share