แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องระบุว่าได้มีการเบิกจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่2ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีและจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่1เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าม. ก็เป็นพนักงานของจำเลยที่1เช่นเดียวกับจำเลยที่2และที่3การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของม.จึงเป็นการวินิจฉัยว่ามีการเบิกจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่1ตามคำฟ้องนั่นเองหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชีและผู้จัดการสาขาหนองคาย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534โจทก์ซื้อตั๋วแลกเงินของธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาท่าเรือสาธุประดิษฐ์เลขที่ 5596028 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม เลขที่ 5596028 ลงวันที่23 พฤษภาคม 2534 จำนวนเงิน 105,454.33 บาท สั่งจ่ายในนามนางกิม เตริ่นถิ และส่งทางไปรษณีย์ไปให้นางกิมที่จังหวัดหนองคายต่อมาประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2534 มีผู้เบิกเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปจากธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาหนองคาย ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยนางกิมมิได้รับเงินไปทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2และที่ 3 จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินตามตั๋วแลกเงินแก่โจทก์โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 105,545.33 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า ในการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินจำเลยที่ 1ได้จ่ายให้นางกิม เตริ่นถิ ไปถูกต้องตามระเบียบของธนาคารแล้วในวันจ่ายเงินจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อยู่ปฏิบัติงานที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 สาขาหนองคาย โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากการจ่ายเงินไม่ถูกต้องดังกล่าว เนื่องจากตั๋วแลกเงินมีชื่อนางกิมเป็นผู้รับเงิน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 105,545.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (29 พฤศจิกายน 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 โจทก์ซื้อตั๋วแลกเงินจากธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาท่าเรือสาธุประดิษฐ์ ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2534สั่งจ่ายเงิน 105,545.33 บาท ให้นางกิม เติ่รนถิ ตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 มีผู้นำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาหนองคายซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งสมุห์บัญชีและผู้จัดการนางมันทิราพนักงานบัญชีของจำเลยที่ 1เป็นผู้ตรวจลายมือชื่อผู้ที่นำตั๋วแลกเงินมาเรียกเก็บเงินมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนอกคำฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคำฟ้องระบุว่าได้มีการเบิกจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีและจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของนางมันทิรา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางมันทิราก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยว่ามีการเบิกจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั่นเอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมิได้วินิจฉัยนอกคำฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาแต่อย่างใด ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปที่ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่นางกิมโดยถูกต้องตามระเบียบแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้ เป็น ว่า ให้ยก ฟ้องโจทก์