คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16781/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ที่มีผลใช้บังคับขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่า กรรมการ ป.ป.ช. กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและมีบทบัญญัติในหมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 ว่าด้วยการดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดกระบวนการในการไต่สวนและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายหลังได้รับคำร้องจากประธานวุฒิสภา บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิให้ผู้ที่ถูกตรวจสอบและไต่สวนหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. กลั่นแกล้งฟ้องร้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้โดยง่าย เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้มีผลให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหลุดพ้นจากความผิดทางอาญา เพราะผู้เสียหายอาจร้องเรียนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบและกลั่นกรองข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แล้วเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งต้องถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีผลเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
แม้ในขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 17 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ หมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 จึงยังสามารถดำเนินการได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83, 84, 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 125
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานอิสระ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติเสียงข้างมากโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ชี้มูลความผิดของโจทก์ว่ากระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อมาโจทก์ถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีและถูกปลดออกจากราชการ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจพิจารณาแล้ว เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ให้สั่งยกโทษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งรายงานการไต่สวนโจทก์กับพวกไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการสูงสุดเห็นว่ากรณียังมีข้อที่ไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะยื่นฟ้อง และแจ้งข้อไม่สมบูรณ์แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันตามกฎหมาย คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ที่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 มีข้อความทำนองเดียวกันว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องแล้ว ให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาพิพากษา โดยมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติรองรับให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และมีบทบัญญัติในหมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 ว่าด้วยการดำเนินคดีต่อกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กำหนดกระบวนการในการไต่สวนและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายหลังได้รับคำร้องจากประธานวุฒิสภา บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมิให้ผู้ที่ถูกตรวจสอบและไต่สวนหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกลั่นแกล้งฟ้องร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้โดยง่าย ทั้งนี้ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีจำนวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 6 เพียง 9 คน ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหลายหมื่นคน และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการตรวจสอบและไต่สวนทั้งในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการยุติธรรม หรือร่ำรวยผิดปกติ และในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือยื่นเท็จ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 อาจนำไปสู่การพ้นจากตำแหน่งหรือการถอดถอนจากตำแหน่ง การลงโทษทางวินัย การลงโทษทางอาญา และการต้องห้ามดำรงตำแหน่งภายในระยะเวลาที่กำหนดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกตรวจสอบและไต่สวนได้ การให้ความคุ้มครองแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมิให้ถูกกลั่นแกล้งฟ้องร้องดำเนินคดีได้โดยง่ายจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียเวลากับการแก้ข้อกล่าวหาในศาลมากจนเกินไป แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้มีผลให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหลุดพ้นจากความผิดทางอาญา เพราะยังมีช่องทางให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติร้องเรียนกล่าวหาต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเพื่อตรวจสอบและกลั่นกรองข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แล้วเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษทางอาญาแก่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไป โดยหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จะต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 125 อีกด้วย แม้ในขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 ไม่มีผลใช้บังคับแล้ว แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติก็ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป และแม้ขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ ไม่มีสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานวุฒิสภา ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 หมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 จึงยังสามารถดำเนินการได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 249 เพียงแต่กำหนดหลักเกณฑ์พิเศษเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในเรื่องทางการเมือง นอกเหนือจากหลักเกณฑ์การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานของรัฐตามปกติในกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น เห็นว่า การพิจารณาพิพากษาคดีที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเสียเองโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองนั้น หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกระทำความผิดจริงตามข้อกล่าวหา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้นั้นย่อมต้องถูกลงโทษทางอาญา ซึ่งอาจถึงจำคุกหรือจำคุกตลอดชีวิตก็เป็นได้ การที่สภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงหาได้เป็นเพียงหลักเกณฑ์พิเศษเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในเรื่องทางการเมืองดังที่โจทก์กล่าวฎีกาไม่ และที่โจทก์ฎีกาว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติรับรองอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องดังกล่าวมาให้พิจารณาพิพากษาก็เพียงให้อำนาจพิจารณาคดีประเภทนี้ มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาตามปกตินั้น เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 หมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 มีเจตนารมณ์เพื่อให้ความคุ้มครองแก่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมิให้ถูกฟ้องร้องได้โดยง่ายดังวินิจฉัยมาข้างต้น ย่อมต้องถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมีผลเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่น เพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน

Share