คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18032/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย” และมาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ” ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีออกคำสั่งลงวันที่ 4 ตุลาคม 2516 สั่งว่าโจทก์มีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและลงโทษจำคุกโจทก์ 7 ปี เป็นการกระทำไปตามที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีฐานะสูงสุดในขณะนั้นให้อำนาจไว้ แม้จะเป็นคำสั่งที่ว่าโจทก์กระทำความผิดทางอาญาข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และลงโทษจำคุกโจทก์ 7 ปี ทั้งออกคำสั่งโดยไม่ได้มีการพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลก็ตาม คำสั่งดังกล่าวก็เป็นคำสั่งที่มีผลบังคับได้ตามบทบัญญัติในกฎหมาย ซึ่งเมื่อไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด และด้วยผลของคำสั่งดังกล่าวกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 2 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 3 ในขณะนั้นได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.2507 โดยออกคำสั่งกระทรวงกลาโหมให้โจทก์ออกจากประจำการ ถอดยศทหาร และย้ายประเภททหาร อันเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่กำหนดอำนาจหน้าที่ให้กระทำเช่นนั้นได้ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติในกฎหมาย โดยไม่อาจถือว่าเป็นการล่วงละเมิดต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2516 คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 541/2517 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2517 ถอดยศทหารตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2517 และคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 993/17 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2517 กับให้จำเลยทั้งสามคืนยศทหารให้แก่โจทก์ ให้คืนสิทธิเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญข้าราชการและประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ตามระเบียบของทางราชการโดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2515 ซึ่งโจทก์ถูกควบคุมตัว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์พอฟังเข้าใจได้ว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 4 ตุลาคม 2516 ที่สั่งว่าโจทก์มีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและลงโทษจำคุกโจทก์ 7 ปี ไม่ชอบเพราะไม่ใช่คำพิพากษาของศาล และจำเลยที่ 2 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 3 ขณะนั้นมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากประจำการและย้ายประเภททหารเป็นนายทหารกองหนุน ไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 541/2517 เรื่องให้นายทหารออกจากประจำการ ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2517 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดยศทหาร ลงวันที่ 25 กันยายน 2517 และคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 993/2517 เรื่องย้ายประเภททหารที่ถูกถอดยศ ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2517 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 บัญญัติไว้ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อันเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเพื่อไม่ให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาคดีนี้ไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ก่อน
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นข้าราชการทหารยศร้อยเอก ตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีจังหวัดฉะเชิงเทรา มีสัสดีจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่ในความปกครองบังคับบัญชาของสัสดีมณฑลทหารบก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอมกิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ลงโทษจำคุกโจทก์มีกำหนด 7 ปี ในข้อหาร่วมและสนับสนุนกับการกระทำความผิดฐานเรียกร้องและรับทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการช่วยเหลือทหารกองเกินที่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการเมื่อเดือนเมษายน 2515 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ต่อมากระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 2 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 3 ในขณะนั้นมีคำสั่งกระทรวงกลาโหมให้โจทก์ออกจากประจำการ และเมื่อถูกถอดยศก็มีคำสั่งย้ายประเภททหารเป็นนายทหารกองหนุนประเภท 2 ไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญและมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2516
อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพของคณะรัฐมนตรีจำเลยที่ 1 ขึ้นพิจารณาก่อนและเห็นว่า คณะรัฐมนตรีเป็นเพียงกลุ่มบุคคล เมื่อไม่มีกฎหมายใดกำหนดไว้ให้เป็นนิติบุคคล คณะรัฐมนตรีจึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65 และไม่อาจเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) ที่จะยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาลเป็นคดีแพ่งได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ยังไม่ได้ร้องทุกข์ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 เป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับวินัยทหารอันเป็นการปฏิบัติตามธรรมเนียมปฏิบัติของทหาร หากฝ่าฝืนผู้บังคับบัญชาทหารมีอำนาจลงทัณฑ์ได้ 5 สถาน ที่ไม่มีโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งลงโทษจำคุกโจทก์ รวมทั้งที่กระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 2 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 3 ในขณะนั้นออกคำสั่งให้โจทก์ออกจากประจำการและย้ายประเภททหารเป็นนายทหารกองหนุนไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ มิใช่ด้วยเหตุเพราะโจทก์ถูกลงโทษตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวก่อนจึงจะฟ้องคดีนี้ได้ แม้โจทก์จะไม่ได้ร้องทุกข์ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ โจทก์ก็มีอำนาจที่จะฟ้องคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีที่สั่งว่าโจทก์มีความผิดข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และคำสั่งกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 2 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 3 ในขณะนั้นที่ปลดโจทก์พ้นราชการทหารและย้ายประเภททหารชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวน หรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันประกาศธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย” และมาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ” ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีออกคำสั่งลงวันที่ 4 ตุลาคม 2516 สั่งว่าโจทก์มีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและลงโทษจำคุกโจทก์ 7 ปี เป็นการกระทำไปตามที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีฐานะสูงสุดอยู่ในขณะนั้นให้อำนาจไว้ แม้จะเป็นคำสั่งที่ว่าโจทก์กระทำความผิดทางอาญาข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และลงโทษจำคุกโจทก์ 7 ปี ทั้งออกคำสั่งโดยไม่ได้มีการพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลก็ตาม คำสั่งดังกล่าวก็เป็นคำสั่งที่มีผลบังคับได้ตามบทบัญญัติในกฎหมาย ซึ่งเมื่อไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด และด้วยผลของคำสั่งดังกล่าวกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 2 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 3 ในขณะนั้นได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ.2507 โดยออกคำสั่งกระทรวงกลาโหมให้โจทก์ออกจากประจำการ ถอดยศทหาร และย้ายประเภททหาร อันเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่กำหนดอำนาจหน้าที่ให้กระทำเช่นนั้นได้ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติในกฎหมาย โดยไม่อาจถือว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของโจทก์ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นๆ ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยในคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share