คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ใช้ค่าทดแทนหากจำเลยแพ้คดีตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วม จึงเป็นกรณีที่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันประสงค์จะเรียกให้จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตามสัญญา จึงต้องฟ้องหรือหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายในกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เกิดวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความฟ้องบังคับตามสัญญาประกันภัยมาใช้บังคับ และกรณีมิใช่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยร่วมให้รับผิดในมูลละเมิดที่กระทำต่อโจทก์จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับดังนั้น เมื่อเกิดเหตุวินาศภัยวันที่ 22 มีนาคม 2534 จำเลยได้หมายเรียกจำเลยร่วมเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 22 มีนาคม 2536 ภายในกำหนด 2 ปี คดีของจำเลยย่อมไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่26 มิถุนายน 2534 โดยมูลละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดวันที่ 22 มีนาคม 2534 ยังอยู่ในอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความ การที่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนได้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคราวก่อน แต่จำเลยได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวไปก่อนที่ศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีนั้น แม้จำเลยจะได้เรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาร่วมรับผิดในคดีนี้เป็นครั้งที่สองก็ตาม การกระทำของจำเลยก็หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่งไม่ประกอบกับในคดีก่อนโจทก์ในคดีนี้ก็หาได้ยื่นคำฟ้องจำเลยร่วมเป็น จำเลยร่วมมาแต่ต้นไม่ ทั้งศาลก็ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วในประเด็นแห่งคดี เพราะจำเลยได้ถอนฟ้องไปก่อนคดีในส่วนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมจึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน80-5152 นครปฐม โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ที่ 1 จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-9157 ราชบุรี นายสำลีญาติมาก เป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2534 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา โจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-5152 นครปฐม ของโจทก์ที่ 1 เพื่อนำอ้อยไปส่งโรงงานที่อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี ตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 ด้วยความประมาทเลินเล่อกล่าวคือขับรถมาด้วยความเร็วสูงขณะมึนเมาสุรา รถยนต์แล่นส่ายไปมาและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 2 แล้วชนรถยนต์ที่โจทก์ที่ 2 ขับอย่างแรงในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 2 หลังเกิดเหตุรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 549,965 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า เหตุแห่งการละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด เข้าร่วมเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 2 ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน80-5152 นครปฐม ของโจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยร่วมเคยขอรวมพิจารณาคดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 903/2534 ของศาลจังหวัดนครปฐม ซึ่งโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้าเป็นคู่ความร่วมกับโจทก์ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วเพราะโจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลย จึงได้ถอนฟ้องการที่จำเลยขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีนี้อีกถือว่าเป็นการเรียกซ้ำ ที่จำเลยเรียกจำเลยร่วมให้มารับผิดในคดีนี้เกิน1 ปี นับแต่วันละเมิด คดีจึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้องและยกคำร้องของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน474,465 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 30,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยชำระเงินจำนวน 30,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีการะหว่างโจทก์ที่ 2 จำเลยและจำเลยร่วมไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงมาว่าเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2534 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับชนกับรถยนต์ของจำเลยโดยมีนายสำลีญาติมาก ลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยเป็นผู้ขับซึ่งได้เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยร่วม หลังเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ศาลชั้นต้น และจำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองที่ศาลจังหวัดนครปฐม คดีของศาลชั้นต้นคดีนี้ได้ส่งไปรวมการพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนครปฐม ระหว่างการพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนครปฐม จำเลยได้หมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีและต่อมาจำเลยขอถอนฟ้องต่อศาลจังหวัดนครปฐมศาลจังหวัดนครปฐมอนุญาตให้ถอนฟ้องตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1179/2535 ของศาลจังหวัดนครปฐมและโอนคดีนี้กลับมาพิจารณาต่อที่ศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2536 จำเลยได้ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย ศาลชั้นต้นอนุญาต ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุละเมิดคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสำลีผู้ขับรถยนต์ของจำเลยโดยดื่มสุราขณะขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เสียหายมากเป็นเงินจำนวน474,465 บาท กับโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส โดยกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,500 บาท และให้จำเลยกับจำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ดังกล่าว
จำเลยร่วมฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่า ความรับผิดของจำเลยร่วมที่มีต่อจำเลยย่อมขาดอายุความแล้ว จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ใช้ค่าทดแทนหากจำเลยแพ้คดี ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมตามตารางกรมธรรม์เอกสารหมาย ล.ร.2 จึงเป็นกรณีที่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันประสงค์จะเรียกให้จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตามสัญญา ก็จะต้องฟ้องหรือหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่เกิดวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความฟ้องบังคับตามสัญญาประกันภัยมาใช้บังคับ และกรณีมิใช่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยร่วมให้รับผิดในมูลละเมิดที่กระทำต่อโจทก์ จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับดังนั้น เมื่อเกิดเหตุวินาศภัยวันที่ 22 มีนาคม 2534 จำเลยได้หมายเรียกจำเลยร่วมเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 22 มีนาคม 2536 ภายในกำหนด 2 ปี คดีของจำเลยย่อมไม่ขาดอายุความ อนึ่งโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่ 26 มิถุนายน 2534 โดยมูลละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดวันที่ 22 มีนาคม 2534 ยังอยู่ในอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความเช่นกัน ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยต่อโจทก์ที่ 2 ด้วย
จำเลยร่วมฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อต่อมาว่า การที่จำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดนครปฐมแล้วจำเลยได้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีครั้งหนึ่งแล้ว แต่จำเลยได้ขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว เมื่อคดีนี้กลับมาพิจารณาที่ศาลชั้นต้นอีก จำเลยได้เรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาร่วมรับผิดในมูลละเมิดคดีนี้เป็นครั้งที่สอง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ และเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยได้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคราวก่อน แต่จำเลยได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวไปก่อนที่ศาลจังหวัดนครปฐมจะได้มีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีนั้นแม้จำเลยจะได้เรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาร่วมรับผิดในคดีนี้เป็นครั้งที่สองก็ตามการกระทำของจำเลยก็หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่งไม่จำเลยจึงมีสิทธิขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยในคดีนี้ได้ ประกอบกับในคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ก็หาได้ยื่นคำฟ้องจำเลยร่วมเป็นจำเลยร่วมมาแต่ต้นไม่ ทั้งศาลก็ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วในประเด็นแห่งคดี เพราะจำเลยได้ถอนฟ้องไปก่อน คดีในส่วนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมจึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 อีกด้วย
พิพากษายืน

Share