คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2519 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจาก ค. และเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2525 ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย มีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ป. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 ก่อนครบกำหนดห้ามโอน แต่ผู้ร้องสอดที่ 1 เพิ่งยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. เพื่อกล่าวอ้างสิทธิที่ดินพิพาทในปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นผู้ร้องสอดที่ 1 และทายาทของ ป. รวมทั้ง พ. ที่อ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทแทนไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ประการใด แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 และทายาทของ ป. สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 ยังครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี นับแต่ระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายล่วงเลยไปแล้ว และโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทตลอดมา การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน คือนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2529 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของ ป. และผู้ร้องสอดที่ 1 มีลักษณะเป็นการแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว และกรณีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 มิได้ครอบครองแทน ป. หรือทายาทของ ป. จึงไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยัง ป. หรือทายาท เมื่อผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2529 ที่โจทก์ที่ 1 แย่งการครอบครอง ผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่มีอำนาจร้องสอดหรือฟ้องโจทก์ที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1225 ตำบลน้ำร้อน อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ กับขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดิน ห้ามยุ่งเกี่ยวรบกวนการครอบครองในที่ดินอีกต่อไป และให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดที่ 1 เข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความขอให้บังคับผู้ร้องสอดที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางปูนจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1225 เฉพาะส่วนที่ผู้ร้องสอดที่ 2 ครอบครองให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 2 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของผู้ร้องสอดที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดที่ 2 เข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ที่ 1 ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 ว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ถูกแย่งการครอบครองเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนเกินกว่า 1 ปี ย่อมหมดสิทธิฟ้องเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2 ขอให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2
ผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2 ขอให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 และผู้ร้องสอดที่ 2 พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1225 ตำบลน้ำร้อน อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ห้ามยุ่งเกี่ยวรบกวนการครอบครองที่ดินอีกต่อไป กับให้ร่วมกันส่งคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 และยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1225 ตำบลน้ำร้อน อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เฉพาะส่วนที่ดินเนื้อที่ 26 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา ตามแนวเขตเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาท ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้ ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 เข้าเกี่ยวข้องรบกวนการครอบครองที่ดินดังกล่าว ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์ที่ 1 กับผู้ร้องสอดที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ในชั้นโจทก์ที่ 1 ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้แจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 ทราบโดยวิธีปิดประกาศไว้ที่หน้าศาล โจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายนางสาวประกอบ ทายาทของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นฎีกาของผู้ร้องสอดที่ 1 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย นางสาวสุพรรณ (ผู้ร้องสอดที่ 1) ซึ่งเป็นทายาท ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ผู้ร้องสอดที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาท เนื้อที่ 26 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา ตามแนวเขตเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1225 ตำบลน้ำร้อน อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีชื่อนางปูน มารดาผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ นางปูนหรือปุ่นอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ ผู้ร้องสอดที่ 1 นางสาวทองยุ่น และนางสาวสงกรานต์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 นางปูนหรือปุ่นถึงแก่ความตาย ผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางปูนหรือปุ่นตามคำสั่งศาลจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2540 ตามสำเนาคำสั่ง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดที่ 1 ว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปี หรือไม่ ผู้ร้องสอดที่ 1 ฎีกาอ้างว่า ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ทางราชการออกเอกสารสิทธิแก่นางปูนวันที่ 8 ตุลาคม 2519 ครบกำหนด 10 ปี วันที่ 8 ตุลาคม 2529 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2525 ยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 จึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นโมฆะ ทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ต้นไม่ว่าจะครอบครองนานเท่าใด ก็ไม่มีสิทธิครอบครองและเป็นการครอบครองแทนนางปูนหรือปุ่นหรือทายาท หากโจทก์ที่ 1 จะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเพื่อตน จะต้องบอกกล่าวไปยังนางปูนหรือปุ่นหรือทายาท แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงลักษณะการยึดถือเพื่อตนไปยังนางปูนหรือปุ่นหรือทายาทนั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2519 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากนายคำตัน และเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2525 ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย มีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นางปูนหรือปุ่นถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 ก่อนครบกำหนดห้ามโอน แต่ผู้ร้องสอดที่ 1 เพิ่งยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางปูนหรือปุ่น เพื่อกล่าวอ้างสิทธิที่ดินพิพาทในปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นผู้ร้องสอดที่ 1 และทายาทของนางปูนหรือปุ่น รวมทั้งนายพูล ที่อ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทแทนไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ประการใด แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 และทายาทของนางปูนหรือปุ่น สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 ยังครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี นับแต่ระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายล่วงเลยไปแล้ว และโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทตลอดมาตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่ การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน คือนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2529 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของนางปูนหรือปุ่น และผู้ร้องสอดที่ 1 มีลักษณะเป็นการแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว และกรณีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 มิได้ครอบครองแทนนางปูนหรือปุ่นหรือทายาทของนางปูนหรือปุ่นจึงไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยังนางปูนหรือปุ่นหรือทายาท เมื่อผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2529 ที่โจทก์ที่ 1 แย่งการครอบครอง ผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่มีอำนาจร้องสอดหรือฟ้องโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องสอดที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share