คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเพียงแต่ส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยทราบมิได้กำหนดให้จำเลยแก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาตามกฎหมายด้วยเป็นการที่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ แต่เมื่อระยะเวลาล่วงเลยมาจนศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว การที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาย่อมเห็นสมควรไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าป่วยการที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ยังมีพยานปากอื่นที่สามารถนำมาเบิกความไปพลางก่อนได้และทนายโจทก์ก็ไม่มาศาลในวันนั้น ส่อให้เห็นว่าโจทก์เจตนาประวิงคดีนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับพยานปากอื่นของโจทก์และทนายโจทก์มาหรือไม่มาศาลนั้นหาใช่เหตุที่จะนำมาพิจารณาสมควรให้เลื่อนคดีเพราะคู่ความอ้างเหตุป่วยเจ็บไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบนั้นเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269, 267 และ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์มีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ประทับฟ้องในกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่นำพาต่อคดีไม่นำพยานมาสืบจึงให้งดสืบพยานโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ของโจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1ได้แก้อุทธรณ์ก็มีโอกาสชนะคดีโจทก์ เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยอุทธรณ์ อันมีมาตรา 198บัญญัติว่า การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น มาตรา 200บัญญัติว่าให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ และมาตรา 201บัญญัติว่า เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบหรือหลบหนีหรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้วหรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายชัดเจนบังคับไว้ว่า เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์แล้วเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งและกำหนดเวลาให้แก้อุทธรณ์ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ แต่หลักฐานในสำนวนปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ว่า “รับเป็นอุทธรณ์โจทก์ สำเนาให้อีกฝ่าย” และศาลชั้นต้นออกหมายนัดส่งให้แก่จำเลยที่ 1โดยมีข้อความในหมายนัดว่า “ด้วยคดีเรื่องนี้ศาลได้รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ดังสำเนาอุทธรณ์แนบมาพร้อมหมายนี้ เพราะฉะนั้นจึงแจ้งมาให้ทราบ” อันเป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทราบเท่านั้น มิได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 แก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการอุทธรณ์ แต่เนื่องจากระยะเวลาที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนได้ล่วงเลยมาจนศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่ให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์ชอบแล้วนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก วันที่ 15 มิถุนายน 2535ทนายโจทก์แถลงว่าโจทก์ป่วยไม่อาจมาศาลได้ขอเลื่อนคดีจำเลยที่ 1ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ใหม่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 ถึงวันนัดทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีพร้อมมีใบรับรองแพทย์แนบมาด้วยทนายจำเลยที่ 1 รับสำเนาคำร้องขอเลื่อนคดีแล้วแถลงคัดค้านว่าโจทก์มีเจตนาประวิงคดี ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ขอเลื่อนคดีมีลักษณะเป็นการประวิงคดีไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์ พร้อมทั้งพิพากษายกฟ้องโจทก์ในวันเดียวกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคู่ความจะร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกันได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 40 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15และการอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลซึ่งต้องใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุผลด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการขอเลื่อนคดีครั้งที่ 2 โจทก์มีใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มาแสดงระบุว่าโจทก์มีอาการอ่อนแรงแขนขาด้านซ้ายเนื่องจากโรคเส้นเลือดสมองตีบและความดันโลหิตสูง ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2535 และยังไม่มีกำหนดกลับบ้าน การขอเลื่อนการสืบพยานโจทก์นัดที่ 2 จึงเป็นการอ้างเหตุขอเลื่อนคดีเพราะตัวความป่วยเจ็บไม่สามารถมาศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 41 วรรคแรกประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หากข้ออ้างดังกล่าวเป็นความจริงก็ถือได้ว่ากรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจให้เลื่อนคดีตามมาตรา 40 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ดังกล่าว เมื่อทนายจำเลยที่ 1 รับสำเนาคำร้องขอเลื่อนคดีแล้วแถลงคัดค้านว่าโจทก์ประวิงคดีมิได้คัดค้านโดยตรงว่าโจทก์มิได้ป่วยจริงจึงเท่ากับทนายจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์ป่วยจริงตามที่อ้างมาในคำร้องและใบรับรองแพทย์ นอกจากนี้หากศาลชั้นต้นมีความสงสัยว่าโจทก์ป่วยเจ็บหรือไม่ก็มีอำนาจไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีเสียก่อนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 หรือจะตั้งเจ้าพนักงานศาลไปตรวจดูว่าโจทก์ป่วยเจ็บจริงหรือไม่ก็ได้ การที่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวย่อมแสดงว่าศาลชั้นต้นมิได้สงสัยในเรื่องที่โจทก์ป่วยเจ็บตามคำร้องของทนายโจทก์และตามใบรับรองแพทย์ดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ป่วยเจ็บไม่สามารถมาศาลได้ เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ สมควรให้โจทก์เลื่อนคดีอีกครั้งหนึ่งตามคำร้องของทนายโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ยังมีพยานปากอื่นที่สามารถนำมาเบิกความไปพลางก่อนได้และทนายโจทก์ก็ไม่มาศาลในวันนี้จึงส่อให้เห็นว่าโจทก์เจตนาประวิงคดีนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับพยานปากอื่นของโจทก์และทนายโจทก์มาหรือไม่มาศาลเท่านั้น หาใช่เหตุที่จะนำมาพิจารณาสมควรให้เลื่อนคดีเพราะคู่ความอ้างเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อนึ่งที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์อุทธรณ์ว่ามิได้ประวิงคดีเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีแล้วมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์พร้อมทั้งพิพากษายกฟ้องในวันเดียวกัน ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบนั้นเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share