คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ระบุว่าตกลงวางมัดจำในวันทำสัญญา 100,000 บาท และมีรายการกำหนดเวลาชำระเงินส่วนที่เหลือไว้เป็น 2 งวด เมื่อครบกำหนดชำระงวดแรกผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเพิ่มเงินมัดจำขึ้นอีก แต่ข้อความในสัญญาดังกล่าวระบุชัดว่าผู้จะขายได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องชำระงวดแรก ตามที่ระบุไว้ในสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขาย แม้ผู้ร้องจะมีพยานมานำสืบอธิบายสัญญาว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินมัดจำก็ขัดกับข้อความในเอกสาร ฟังได้ว่าสัญญาเพิ่มเงินมัดจำคือหลักฐานการชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายนั่นเอง ผู้ร้องหามีสิทธิรับเงินจำนวนดังกล่าวไม่เมื่อมีการเลิกสัญญาแล้วผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งหกชั่วคราวเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดิน ซึ่งชำระตามสัญญาจะซื้อจะขายจำนวน2,382,261 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระพร้อมดอกเบี้ยผู้ร้องปฏิเสธหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีหนังสือยืนยันหนี้จำนวนดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมิได้เป็นหนี้จำเลยที่ 2 ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง พร้อมอาคารโรงเรียนวิทยานุกรณ์พณิชยการเชียงใหม่และกิจการ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและกิจการโรงเรียนดังกล่าวจากผู้ร้องในราคา 4,500,000 บาท วางมัดจำ 2 คราว ในวันทำสัญญา100,000 บาท และส่วนที่เหลืออีก 2,382,261 บาท ได้วางมัดจำเพิ่มตามสัญญาลงวันที่ 15 มกราคม 2528 ส่วนที่ค้างทั้งหมดให้ชำระในวันที่ 30 มิถุนายน 2528 แต่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินที่ค้างผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิรับเงินมัดจำทั้งหมดได้ขอให้จำหน่ายผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า สัญญาจะซื้อจะขายกำหนดวางมัดจำในวันทำสัญญาเพียง 100,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 2 งวด การชำระเงินงวดแรกจำนวน 2,382,261 บาทจึงเป็นการชำระราคาซื้อขายบางส่วน ไม่ใช่เงินมัดจำ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2527 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม2528 ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเพิ่มเงินมัดจำซึ่งตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายระบุว่า “ในการจะซื้อขายกันนี้ผู้จะซื้อตกลงวางมัดจำไว้แล้วในวันนี้เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท โดยผู้จะขายได้รับเงินตามจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาส่วนเงินที่คงค้างอยู่อีก 4,500,000 บาท ผู้จะซื้อตกลงจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวดังรายการต่อไปนี้ 2.1…” เห็นว่า สัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.1 เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะมีรายการวางมัดจำเป็นเงิน 100,000 บาท และมีรายการกำหนดวันเวลาชำระเงินไว้ครบถ้วนตามสัญญาข้อ 2.1 และ 2.2 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2528 ซึ่งเป็นวันกำหนดชำระเงินงวดแรกตามสัญญาหมาย ร.1 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเพิ่มเงินมัดจำเอกสารหมาย ร.2 ขึ้นอีก แต่ข้อความในสัญญาดังกล่าวระบุชัดว่าผู้จะขายได้รับเงินจำนวน 2,382,261 บาทไว้จากผู้จะซื้อ เงินจำนวนดังกล่าวมีจำนวนเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาหมาย ร.1 ข้อ 2.1 แม้ผู้ร้องจะมีพยานมาเบิกความสนับสนุนอธิบายสัญญาเพิ่มเงินมัดจำว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินมัดจำก็ขัดกับข้อความในเอกสารไม่น่าเชื่อ ฟังได้ว่าสัญญาเพิ่มเงินมัดจำคือหลักฐานการชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.1 นั่นเอง ผู้ร้องหามีสิทธิริบเงินจำนวนดังกล่าวได้ไม่ เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2บอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม
พิพากษายืน

Share