คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาภารจำยอมไว้กับโจทก์มีความว่า (ข้อ 1) ผู้ให้สัญญา(หมายถึงจำเลย) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ 1244 เนื่องจากที่ดินโฉนดที่ 6023 ของผู้รับสัญญา (หมายถึงโจทก์) ไม่มีทางออกไปสู่ถนนราชวิถีโดยรถยนต์ได้ เพราะมีที่ดินแปลงโฉนดที่ 1244 และโรงรำของผู้ให้สัญญาขวางอยู่ก่อน ผู้ให้สัญญาจึงตกลงยินยอมให้ทางถนนเดิมของที่ดินโฉนดที่ 1244 มีขนาดกว้างประมาณ 3.00 เมตร ยาวจากคลองสามเสนถึงถนนราชวิถียาวประมาณ 68 เมตร ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดที่ 6023 เพื่อใช้เป็นทางสัญจรไปมาและให้รถยนต์ที่ผ่านเข้าออกจากที่แปลงโฉนด 6023 สู่ถนนราชวิถีได้ ผู้ให้สัญญาจะไม่ปลูกสร้างสิ่งใด ๆ คร่อมทางภารจำยอมนี้ในโอกาสต่อไปและยินยอมให้ผู้รับสัญญาสร้างสะพานบนที่ดินของผู้ให้สัญญาตรงริมคลองสามเสนทอดข้ามไปสู่ที่ดินแปลงโฉนดที่ 6023 ได้(ข้อ 2) เนื่องจากที่ดินของผู้ให้สัญญาแปลงโฉนดที่ 1244 ขณะนี้มีโรงรำและถ่านปลูกสร้างปิดช่องถนนของที่ดินส่วนที่ให้สัญญายินยอมเป็นภารจำยอม โดยที่ผู้ให้สัญญาได้ให้ จ. เช่ามีกำหนด 10 ปีเป็นเหตุให้ผู้รับสัญญายังใช้สิทธิภารจำยอมที่ตกลงกันตามสัญญานี้ทันทีไม่ได้ (ข้อ 3) เพื่อเป็นการตอบแทนแก่ผู้ให้สัญญาที่ยินยอมให้ที่ดินแปลงโฉนดที่ 6023 ของผู้รับสัญญาได้สิทธิภารจำยอมบนที่ดินแปลงโฉนดที่ 1244 ของผู้ให้สัญญาตามข้อ 1 ผู้รับสัญญาขอให้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 120,000 บาท ผู้ให้สัญญาได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นเงิน 20,000 บาทแล้ว ที่ค้างผู้รับสัญญาจะชำระให้เสร็จเมื่อผู้ให้สัญญาได้รื้อถอนโรงรำออกจากที่ดินโฉนดที่ 1244 ไปแล้วและเมื่อผู้ให้สัญญาได้รับเงินจากผู้รับสัญญาครบถ้วนแล้ว ผู้ให้สัญญาจะต้องนำที่ดินโฉนดที่ 1244 ไปจดทะเบียนภารจำยอมทันที ดังนี้ย่อมเห็นวัตถุประสงค์ของสัญญารายนี้ว่าที่โจทก์ยอมเสียเงินถึง120,000 บาท ก็เพื่อให้มีถนนผ่านที่ดินจำเลยไปออกถนนราชวิถีได้โดยกว้างประมาณ 3 เมตร และยาวประมาณ 68 เมตร ทั้งนี้ก็เพื่อให้รถยนต์วิ่งเข้าออกไปยังที่ดินของโจทก์ได้โดยการสร้างสะพานบนที่ดินของจำเลยข้ามคลองสามเสนไปสู่ที่ดินของโจทก์โฉนดที่ 6023 ได้ การที่จะแปลสัญญานี้ไปเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ แปลว่าให้ทำสะพานข้ามคลองสามเสนไปสู่ที่ดินของ ป. ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์นั้น ย่อมเป็นการแปลความที่ขัดต่อเจตนาของคู่สัญญาทั้งขัดกับข้อความในสัญญาด้วยการที่โจทก์ยอมเสียเงินถึง 120,000 บาท ก็ย่อมประสงค์จะให้ทำสะพานข้ามทอดเข้าที่ดินของโจทก์ไม่ต้องการให้ทำสะพานลงไปในที่ดินของ ป. ซึ่งแม้จะอยู่ติดกันก็มีคูน้ำคั่น ซึ่งมีความกว้างถึง 1 วา คำว่า’ทางถนนเดิม’ ในสัญญาข้อ 1 หมายถึงถนนปูน 3 เมตร ตั้งแต่ปากทางติดถนนราชวิถีเข้ามาหน้าโรงรำและตรงเข้ามายังคลองสามเสนซึ่งเมื่อแปลเช่นนี้ ถนนเดิมจากปากทางจะตรงเข้ามาจดคลองสามเสนและย่อมจะสร้างสะพานข้ามคลองสามเสนไปสู่ที่ดินโจทก์ได้ ถนนที่เป็นภารจำยอมตามสัญญามีความกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ68 เมตร โดยถือถนนปูนซึ่งเป็นถนนเดิมแล้วตรงเข้ามาถึงหน้าโรงรำและถ่าน แล้วตรงเข้ามา (โดยไม่เบนไปทางซ้าย) ทั้งนี้โดยถือแนวถนนปูนเดิม ส่วนใดของโรงรำและถ่านที่ขวางช่องทางดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการผิดสัญญาจำเลยต้องรื้อออกไปให้พ้นความกว้าง (ประมาณ 3 เมตร)
วัตถุประสงค์ของสัญญาภารจำยอมเป็นเพียงเพื่อให้โจทก์มีทางกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 68 เมตร และเพื่อทำสะพานข้ามคลองเข้าที่โจทก์เท่านั้น ฉะนั้น ส่วนใดของโรงรำและถ่านที่กีดขวางทางภารจำยอมก็จะต้องรื้อถอนไป แต่หาใช่รื้อไปทั้งหมดทั้ง ๆ ที่ ส่วนอื่นก็ไม่ได้กีดขวางทางภารจำยอมไม่ มิฉะนั้นก็จะเป็นการตีความสัญญาไปในทางที่ไม่สุจริต เป็นการขัดต่อมาตรา 368แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดที่ 1244 ได้ทำสัญญาภารจำยอมไว้กับโจทก์ ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1244 ของจำเลยตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 6023 ของโจทก์ ขณะทำสัญญา มีโรงรำและถ่านปลูกสร้างอยู่บนฝั่งคลองสามเสนปิดช่องถนนทางภารจำยอมตามสัญญาอยู่ เพราะจำเลยให้บุคคลอื่นเช่า 10 ปี สัญญาจะครบวันที่ 1 มีนาคม 2509 โจทก์ต้องเสียค่าตอบแทน 120,000 บาทในวันทำสัญญาโจทก์ชำระให้จำเลยแล้ว 20,000 บาท ครั้นพ้นกำหนดหมดข้อผูกพันตามสัญญาเช่าซึ่งจำเลยมีอยู่ต่อบุคคลภายนอกแล้วจำเลยไม่รื้อถอนโรงรำและถ่านซึ่งปิดช่องถนนออกไปให้พ้นที่ดินโฉนดที่ 1244 ตามสัญญา จำเลยรื้อโรงรำและถ่านไปเพียง 1.70 เมตร และกันเนื้อที่นอกแนวถนนเดิมตามสัญญา ซึ่งบุคคลอื่นใช้เดินและทำสะพานข้ามคลองเข้าที่บุคคลอื่นอยู่ก่อนแล้ว ไปทางด้านทิศตะวันตกรวมกันเพื่อให้ได้เนื้อที่ 3 เมตร มาให้โจทก์ จึงเป็นทางโค้ง ไม่มุ่งตรงเข้าที่โจทก์ ไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ในสัญญา โจทก์ทำสะพานข้ามคลองเป็นทางตรงเข้าที่โจทก์ดังที่ตกลงในสัญญาไม่ได้ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยร่วมกันรื้อถอนโรงรำและถ่านออกไปจากที่ดินโฉนด 1244 ตามสัญญา เพื่อให้โจทก์สร้างสะพานและใช้ทางภารจำยอมตามฟ้อง และให้จำเลยร่วมกันไปจดทะเบียนภารจำยอมในโฉนดที่ 1244 เป็นทางกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 68 เมตรณ หอทะเบียนที่ดิน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นเครื่องแสดงเจตนาแทน

จำเลยให้การว่า การรื้อโรงรำและถ่านตกลงเพียงรื้อเฉพาะส่วนของทางภารจำยอมที่ระบายสีแดงตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 เท่านั้นไม่ใช่รื้อไปทั้งหมด จำเลยได้จัดการรื้อโรงรำและถ่านจากที่ภารจำยอมตามสัญญาภารจำยอมแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนโรงรำและถ่านออกไปจากที่ดินโฉนดที่ 1244 ตามสัญญา เพื่อให้โจทก์สร้างสะพานและใช้ทางภารจำยอมได้ (ทางภารจำยอมกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 68 เมตร) ให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมในโฉนดที่ 1244 เป็นทางกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ68 เมตร ณ หอทะเบียนที่ดิน ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเลข 1 แต่ทางกว้างไม่เกิน 3 เมตร ยาวประมาณ 68 เมตร หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนแสดงเจตนาของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เช่น เสา ซึ่งยังเหลือปิดทางภารจำยอมอยู่นั้นออกไปให้หมดสิ้นเรียบร้อย และให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมเป็นทางกว้างประมาณ 3 เมตร โดยให้รถยนต์เข้าออกได้ ยาวประมาณ 68 เมตร ตามแนวทางถนนเดิมลงในโฉนดที่ดิน 1244 ของจำเลย ณ สำนักงานที่ดิน

โจทก์ฎีกา

เกี่ยวกับทางพิพาทรายนี้ คงมีการโต้เถียงเฉพาะจากหน้าโรงรำและถ่านไปจดคลองสามเสนว่า ถนนที่พุ่งเข้ามานั้นจะต้องเบี่ยงซ้ายไปหน่อยแล้วไปรวมกับซอกทางเดินอันเป็นสะพานไม้ทอดข้ามดินแฉะ ๆ น้ำครำหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถนนภารจำยอมกว้าง 3 เมตรนี้ จะนับรวมซอกทางเดินที่เป็นไม้ทอดดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความในสัญญาซึ่งมี 3 ข้อดังนี้

ข้อ 1 ผู้ให้สัญญาทั้งสี่รายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ 1244 อยู่ที่ตำบลพญาไท อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เนื่องจากที่ดินแปลงโฉนดที่ 6023 ของผู้รับสัญญาไม่มีทางถนนออกไปสู่ถนนราชวิถีโดยรถยนต์ได้เพราะมีที่ดินแปลงโฉนดที่ 1244 และโรงรำของผู้ให้สัญญาขวางอยู่ก่อนที่จะออกสู่ถนนราชวิถีได้ ผู้ให้สัญญาจึงตกลงยินยอมให้ทางถนนเดิมของที่ดินโฉนดที่ 1244 มีขนาดกว้างประมาณ 3.00 เมตร ยาวจากคลองสามเสนถึงถนนราชวิถียาวประมาณ 68 เมตร ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดที่ 6023 เพื่อใช้เป็นทางสัญจรไปมาและให้รถยนต์ผ่านเข้าออกจากที่แปลงโฉนด 6023สู่ถนนราชวิถีได้ทุกเวลา ผู้ให้สัญญาจะไม่ปลูกสร้างสิ่งใด ๆ คร่อมทางภารจำยอมนี้ในโอกาสต่อไป และยินยอมให้ผู้รับสัญญาสร้างสะพานบนที่ดินของผู้ให้สัญญาตรงริมคลองสามเสนทอดข้ามไปสู่ที่ดินแปลงโฉนด6023 ได้

ข้อ 2 เนื่องจากที่ดินของผู้ให้สัญญาแปลงโฉนดที่ 1244 ขณะนี้มีโรงรำและถ่านปลูกสร้างปิดช่องถนนของที่ดินส่วนที่ผู้ให้สัญญายินยอมให้เป็นภารจำยอมโดยที่ผู้ให้สัญญาได้ให้นายจาโป้ แซ่อึ๊ง เช่ามีกำหนด 10 ปี สัญญาเช่าทำเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2499 จึงเป็นเหตุให้ผู้รับสัญญายังใช้สิทธิภารจำยอมที่ตกลงกันตามสัญญานี้ทันทีไม่ได้ เว้นแต่โรงรำและถ่านจะได้รื้อถอนไปก่อนครบกำหนดสัญญาเช่า

ข้อ 3 เพื่อเป็นการตอบแทนแก่ผู้ให้สัญญาที่ได้ยินยอมให้ที่ดินแปลงโฉนดที่ 6023 ของนางเสริมศรี ทานสัมฤทธิ์ ได้สิทธิภารจำยอมบนที่ดินแปลงโฉนดที่ 1244 ของผู้ให้สัญญาตามข้อ 1 ผู้รับสัญญาขอให้ค่าตอบแทนเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้วน)ในวันทำสัญญานี้ ผู้ให้สัญญาได้รับเงินค่าตอบแทนจากผู้รับสัญญาแล้วเป็นเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ส่วนที่ค้างอยู่ 100,000 บาท(หนึ่งแสนบาทถ้วน) ผู้รับสัญญาจะชำระให้เสร็จสิ้นเมื่อผู้ให้สัญญาได้รื้อถอนโรงรำออกจากที่ดินโฉนดที่ 1244 ไปแล้ว และเมื่อผู้ให้สัญญาได้รับเงินจากผู้รับสัญญาจำนวน 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้วน)ครบถ้วนแล้ว ผู้ให้สัญญาจะต้องนำที่ดินโฉนดที่ 1244 ไปจดทะเบียนภารจำยอม ณ หอทะเบียนที่ดินจังหวัดพระนครทันที

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อสัญญาทั้ง 3 ข้อนั้น ย่อมเห็นวัตถุประสงค์ของสัญญารายนี้ว่าที่โจทก์ยอมเสียเงินให้จำเลยถึง 120,000 บาท ก็เพื่อให้มีถนนผ่านที่ดินจำเลยไปออกถนนราชวิถีได้โดยรถยนต์ โดยกว้างประมาณ3 เมตร และยาวประมาณ 68 เมตร ทั้งนี้ เพื่อให้รถยนต์วิ่งเข้าออกไปยังที่ดินของโจทก์ (โฉนดเลขที่ 6023) ได้ โดยการสร้างสะพานบนที่ดินของจำเลยข้ามคลองสามเสนไปสู่ที่ดินของโจทก์โฉนด 6023 ได้ ดังปรากฏข้อความชัดเจนในสัญญาข้อ 1 เมื่อวัตถุประสงค์แห่งสัญญา คือ การสร้างถนนเข้ามาถึงคลองสามเสนแล้วทำสะพานข้ามทอดไปเข้าที่ดินของโจทก์โฉนดที่ 6023 เช่นนี้แล้ว การที่จะแปลสัญญานี้ไปเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ แปลว่า ให้ทำสะพานข้ามคลองสามเสนไปสู่ที่ดินนางปานซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์นั้น ย่อมเป็นการแปลความที่ขัดต่อเจตนาของคู่สัญญา และทั้งขัดกับข้อความในสัญญาด้วย การที่โจทก์ยอมเสียเงินถึง 120,000 บาทก็ย่อมอยากจะให้ทำสะพานข้ามทอดเข้าที่ดินของโจทก์เป็นแน่ และคงจะไม่ต้องการให้ทำสะพานลงไปในที่ดินนางปาน ซึ่งแม้จะอยู่ติดกันก็มีคูน้ำคั่นซึ่งมีความกว้างถึง 1 วา ศาลฎีกาเชื่อว่าคู่กรณีมีเจตนาให้ทำสะพานข้ามคลองสามเสนเข้าไปสู่ที่ดินของโจทก์ หาใช่ไปสู่ที่ดินนางปานไม่

เมื่อฟังข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว คำว่า “ทางถนนเดิม” ในสัญญาข้อ 1 น่าจะหมายถึง ถนนปูน 3 เมตร ตั้งแต่ปากทางติดถนนราชวิถีเข้ามาหน้าโรงรำและตรงเข้ามายังคลองสามเสนซึ่งเมื่อแปลเช่นนี้แล้ว ถนนเดิมจากปากทางจะตรงเข้ามาติดคลองสามเสน และย่อมจะสร้างสะพานข้ามคลองสามเสนไปสู่ที่ดินโจทก์ได้ ถ้าหากจะแปลว่าทางถนนเดิมตรงเข้ามาจากปากทางพอถึงหน้าโรงรำและถ่านก็เบี่ยงไปทางซ้ายเล็กน้อย ไปรวมกับซอกทางเดินเก่าให้อยู่ในความกว้าง 3 เมตรด้วยแล้ว ทางนั้นก็จะไปจดคลองสามเสนในด้านตรงข้ามกับที่ดินของนางปาน และจะต้องทำสะพานข้ามทอดไปสู่ที่ดินของนางปาน ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าไม่อาจแปลไปเช่นนั้นได้เลย ศาลฎีกาเห็นว่า ถนนที่เป็นภารจำยอมตามสัญญามีความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 68 เมตร โดยถือถนนปูนซึ่งเป็นถนนเดิม (สีแดง) ตามแผนที่ในเอกสาร จ.9 แล้วตรงเข้ามาถึงหน้าโรงรำและถ่าน แล้วตรงเข้ามา (โดยไม่เบนไปทางซ้าย) ทั้งนี้ โดยถือแนวถนนปูนเดิม ส่วนใดของโรงรำและถ่านที่ขวางช่องทางดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นการผิดสัญญาจำเลยต้องรื้อออกไปให้พ้นความกว้าง (ประมาณ 3 เมตร)

ที่โจทก์ฎีกาให้บังคับให้รื้อโรงรำและถ่านออกจากที่ดินโฉนดที่ 1244 ของจำเลยไปให้หมดสิ้น โดยอ้างว่า ตามสัญญาเขียนไว้เช่นนั้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า วัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นเพียงเพื่อให้โจทก์มีทางกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 68 เมตร และเพื่อทำสะพานข้ามคลองเข้าที่โจทก์เท่านั้น ฉะนั้น ส่วนใดของโรงรำและถ่านที่กีดขวางทางภารจำยอมดังกล่าวก็จะต้องรื้อถอนไป แต่หาใช่รื้อถอนไปทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ส่วนอื่น ๆก็ไม่ได้กีดขวางทางภารจำยอมรายนี้ไม่ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นการตีความสัญญาไปในทางที่ไม่สุจริต เป็นการขัดมาตรา 368 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อนี้มาชอบแล้ว

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนโรงรำและถ่านเฉพาะส่วนที่กีดขวางทางภารจำยอมกว้างประมาณ 3 เมตรยาวประมาณ 68 เมตร โดยถือแนวตามแผนที่หมายเลข 1 ท้ายฟ้อง(แต่ไม่รวมซอกทางเดินเก่าข้างโรงรำและถ่านเข้าอยู่ในความกว้าง 3 เมตรด้วย)เพื่อให้โจทก์สร้างสะพานและใช้ทางภารจำยอมได้ ให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมในโฉนดที่ 1244 เป็นทางกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 68 เมตร ณ หอทะเบียนที่ดินจังหวัดพระนคร ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเลข 1 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย

Share