คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับราชการ มีอายุมากแล้ว จำเลยที่ 1 ทำสัญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อเทศบาลด้วยตนเอง เมื่อก่อสร้างเสร็จ ท. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ห้อง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าหนี้ตามฟ้องคดีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะต้องหักเงินค่ามัดจำและค่าหินขัดออกก่อนนั้น หากจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้วเหตุใดจึงจะยอมให้มีการหักเงินกันได้ เพราะไม่ใช่หนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 เคยติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ กรณีดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เรื่องตัวแทนเชิด เพราะการเป็นตัวแทนเชิดนั้น ตัวการไม่ปรารถนาที่จะผูกพันกับบุคคลภายนอกสำหรับการกระทำของตัวแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 752,356 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 700,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 500,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และจากต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยทั้งหมดคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 มกราคม 2541) ให้รวมกันไม่เกิน 52,356 บาท ตามที่โจทก์ขอ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 5 ห้อง เป็นเงิน 4,200,000 บาท ลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อเทศบาลตำบลแม่สอดด้วยตนเอง เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์เสร็จ นางสาวทิพวรรณ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ห้อง จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำนวนหนี้ตามคำฟ้องไม่ถูกต้องเพราะจะต้องหักเงินค่ามัดจำและค่าพื้นหินขัดออกก่อน จำเลยที่ 1 จึงยังค้างค่าจ้างก่อสร้างอยู่เพียง 200,000 บาท มิใช่ 700,000 บาท นั้น หากจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้วเหตุใดจำเลยที่ 2 จึงจะยอมให้มีการหักจำนวนเงินดังกล่าวตามที่กล่าวอ้างกันได้ เพราะหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารพาณิชย์ไม่ใช่หนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เคยมาติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 กรณีดังกล่าวมิใช่เรื่องตัวแทนเชิด เพราะการเป็นตัวแทนเชิดนั้นตัวการไม่ปรารถนาที่จะผูกพันกับบุคคลภายนอกสำหรับการกระทำของตัวแทน จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ด้วย”
พิพากษายืน

Share