แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้ตามฟ้อง ไม่เป็นการนำสืบแตกต่างจากฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ
โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสัญญากู้ยืมเงินเป็นหลัก การที่จำเลยยอมรับผิดในหนี้ที่บิดาจำเลยและเครือญาติมีต่อโจทก์โดยการทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทำให้หนี้เดิมระงับก่อให้เกิดหนี้ใหม่ระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยมีความผูกพันต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จำเลยจะอ้างว่าจำเลยไม่ได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินไม่สมบูรณ์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นเงิน 9,531,658.55 บาท โดยจำเลยยอม เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมทั้งแนบสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย คำฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยชัดแจ้งถึงสิทธิของโจทก์ในการเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยพอที่จะเข้าใจได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้ คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
โจทก์และจำเลยตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินคืนโดยผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยผิดนัด ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องชำระภายในวันที่ 25 กันยายน 2528 โจทก์จึงมิสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ทั้งหมด อายุความเริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 คือ วันที่ 26 กันยายน 2528 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 จึงพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ แต่ทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ระบุว่า จำเลยได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยจะมาติดต่อ แต่ได้รับอุบัติเหตุ จำเลยขอผ่อนผันการชำระหนี้ 2 เดือน และจะขายทรัพย์สินชำระหนี้แก่โจทก์ กับขอให้โจทก์ลดดอกเบี้ยแก่จำเลย กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องรับสภาพหนี้ เพราะการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 ต้องเป็นเรื่องรับสภาพกันภายในกำหนดอายุความ แต่การที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้และต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์
ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 87 ประกอบด้วยมาตรา 83 ที่บัญญัติให้โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยซึ่งถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาคดี ก็เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินต่อไปได้ โดยไม่หยุดชะงัก แต่ถ้าทนายความจำเลยเป็นผู้แถลงขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตาย โดยโจทก์ไม่คัดค้านและทายาทยินยอมเข้ามาแก้คดีแทน ก็ไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตายอีก และไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยได้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 87 บัญญัติให้กระบวนพิจารณาคงดำเนินต่อไป และให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้มาใช้บังคับด้วย หมายถึง บทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้ตาย ซึ่งเจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้ หากปรากฏว่าลูกหนี้ยังมีชีวิตอยู่เจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้ล้มละลายได้ เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไม่อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลายได้ เนื่องจากจำเลยไม่มีสภาพเป็นบุคคล ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษา ให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84 ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่ความตาย ทนายความจำเลยขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกทายาทจำเลยเข้ามาเป็น คู่ความแทนนางกิ่งกาญจน์ คณานุรักษ์ ภริยาของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๔
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นเงิน ๙,๕๓๑,๖๕๘.๕๕ บาท และจำเลยได้รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ครบถ้วน แต่โจทก์ก็นำสืบว่า เดิม นายดิเรก คณานุรักษ์ บิดาจำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน ๙,๕๔๗,๔๖๗.๘๐ บาท เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอรับผิดชำระหนี้แทน และต่อมาจำเลยทำบันทึกข้อตกลงประนอมหนี้และรับผิดใช้หนี้สิน แต่จำเลย ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ โดยรวมหนี้ของบิดาจำเลยและเครือญาติเข้าด้วยกันเป็นเงิน ๙,๕๓๑,๖๕๘.๕๕ บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ดังนี้เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้ตามฟ้อง ไม่เป็นการนำสืบแตกต่างจากฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ เพราะโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสัญญากู้ยืมเงินเป็นหลักซึ่งมีจำนวนหนี้เท่านั้น การที่จำเลยยอมรับผิดในหนี้ที่บิดาจำเลยและเครือญาตมีต่อโจทก์โดยการทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้อง เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทำให้หนี้เดิมระงับก่อให้เกิดหนี้ใหม่ระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยมีความผูกพันต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจะอ้างว่าจำเลยไม่รับเงินกู้ยืมไปจากโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินไม่สมบูรณ์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้
ที่จำเลยฎีกาข้อสองว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงสิทธิของโจทก์ในการเรียก ดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน เป็นเงิน ๙,๕๓๑,๖๕๘.๕๕ บาท โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งแนบสำเนาประกาศธนาคาร แห่งประเทศไทยมาท้ายคำฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยหรือส่วนลด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยฎีกาข้อสามว่า หนี้ตามฟ้องมีกำหนดอายุความ ๕ ปี มิใช่มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัย และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินคืนโดยผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ (๒) เมื่อปรากฏว่า หลังจากทำสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดแรกที่ต้องชำระภายในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๘ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ทั้งหมด อายุความเริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๒ คือ วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๒๘ โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จึงพ้นกำหนดอายุความ ๕ ปี แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ ขาดอายุความแต่ทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ขาดอายุความ จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ระบุว่า จำเลยได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยจะมาติดต่อ แต่ได้รับอุบัติเหตุ จำเลยขอผ่อนผันการชำระหนี้ ๒ เดือน และจะขายทรัพย์สินชำระหนี้แก่โจทก์ กับขอให้โจทก์ลดดอกเบี้ยแก่จำเลย กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องรับสภาพหนี้ดังที่จำเลยฎีกา เพราะการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๔ ต้องเป็นเรื่องรับสภาพกันภายในกำหนดอายุความ แต่การที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยได้สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๒๔ จำเลยจึงไม่มีสิทธิ ยกอายุความขึ้นต่อสู้และต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์
ที่จำเลยฎีกาข้อสี่ว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๓ โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตายมิได้บัญญัติให้บุคคลอื่นเป็นผู้ร้องขอ การที่ทนายความจำเลยแถลงขอให้เรียก นางกิ่งกาญจน์ คณานุรักษ์ ภริยาจำเลยเข้ามาแก้คดีแทน แม้โจทก์กับนางกิ่งกาญจน์ไม่คัดค้านก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ ที่บัญญัติให้โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยซึ่งถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาคดี ก็เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก แต่ถ้าทนายความจำเลยเป็นผู้แถลงขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตาย โดยโจทก์ไม่คัดค้านและทายาทยินยอมเข้ามาแก้คดีแทน ก็ไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องขอให้เรียกทายาทเข้ามาแก้คดีแทนจำเลยที่ตายอีก และไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ศาลจะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยได้ ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณา พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๗ บัญญัติให้กระบวนพิจารณาคงดำเนินต่อไป และให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้มาใช้บังคับด้วย อันหมายถึงบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยกระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้ตาย ซึ่งเจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้ หากปรากฏว่าลูกหนี้ยังมีชีวิตอยู่เจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้ล้มละลายได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายในระหว่าง การพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไม่อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลายได้ เนื่องจากจำเลยไม่มีสภาพเป็นบุคคล ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยได้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๔ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
พิพากษายืน .