แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(1) ซึ่งพระราชบัญญัติ ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 ที่ใช้บังคับในระหว่างโจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทบัญญัติว่า จะต้องขอจับจองและได้รับใบอนุญาตให้จับจองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะมีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ใดฝ่าฝืนเข้าครอบครองพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ออกไปเสียจากที่ดินได้ หากยังขัดคำสั่งก็มีความผิดต้องระวางโทษ เมื่อโจทก์มิได้รับอนุญาตแม้ต่อมาจะได้แจ้งการครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ ที่พิพาทยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่เช่นเดิม โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่จะเรียกร้องให้กองทัพเรือจำเลยซึ่งเข้าครอบครองที่ดินตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในท้องที่ตำบลบางพระอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2499 จำต้องจัดสรรที่ดินหรือจ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินแก่โจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเนื่องจากจำเลยมีความประสงค์จะจัดตั้งนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ทหารเรือกองหนุน จึงได้ดำเนินการให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีพ.ศ. 2497 และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในท้องที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2499 ให้ใช้ที่ดินที่กำหนดเขตหวงห้ามไว้ดังกล่าวเป็นเขตจัดตั้งนิคมสร้างตนเองโดยให้ผู้บัญชาการทหารเรือผู้แทนของจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับนิคมซึ่งจัดตั้งขึ้น ที่ดินตามที่กำหนดเขตหวงห้ามไว้มีเนื้อที่17,000 ไร่ ซึ่งมีที่พิพาทในคดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้รวมอยู่ด้วย จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 โจทก์ทั้งเจ็ดเคยร้องขอให้จำเลยจัดสรรที่ดินหรือจ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติโจทก์ทั้งเจ็ดจึงฟ้องคดีนี้เมื่อปี พ.ศ. 2521 คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นข้อแรกว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิอย่างใดในที่พิพาทอันจะเรียกร้องให้จำเลยจัดสรรที่ดินหรือจ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินแก่โจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง ถึงแม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2497 ใช้บังคับ โจทก์ก็จะต้องมีสิทธิครอบครองโดยชอบจึงจะอ้างสิทธิขึ้นใช้ยันรัฐได้ ฝ่ายจำเลยมีพลเรือตรีเฟื่อง ปัณยาชีวะ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ที่พิพาทเดิมเป็นป่าทึบ พยานเป็นผู้เข้าไปสำรวจเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2490 ตามคำสั่งของผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อจัดตั้งนิคมให้ทหารเรือเข้าไปทำกิน ได้เนื้อที่ป่าทึบประมาณ 17,000 ไร่ ต่อมาจึงได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามในที่ดินดังกล่าว โจทก์เองก็นำสืบรับว่า เมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2486 ถึง พ.ศ. 2495 โจทก์ทั้งเจ็ดได้เข้าหักร้างถางพงครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่าในอำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี ซึ่งแสดงว่าที่พิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ก่อนโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าครอบครอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าที่พิพาทเดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(1) ในระหว่างเวลาที่โจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทนั้นมีพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2479 ใช้บังคับอยู่ ซึ่งบัญญัติวิธีการจับจองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(1) ไว้ว่าจะต้องขอจับจองและได้รับใบอนุญาตให้จับจองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะมีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินผู้ใดฝ่าฝืนเข้าครอบครองที่ดินโดยมิได้รับอนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ออกไปเสียจากที่ดินได้ หากผู้นั้นยังขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานมีความผิดต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้โจทก์ทุกจำนวนยกเว้นโจทก์ สำนวนที่ 4 ต่างรับว่า ในการเข้าครอบครองที่พิพาท โจทก์ไม่ได้ขอจับจองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ส่วนโจทก์สำนวนที่ 4 อ้างตนเองเป็นพยานว่าได้ขออนุญาตจับจองแล้ว แต่ก็ไม่มีใบอนุญาตให้จับจองมาแสดงเป็นหลักฐาน ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ตามที่กล่าวอ้าง เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าครอบครองที่พิพาทโดยมิได้รับอนุญาต ย่อมไม่อาจอ้างสิทธินั้นขึ้นใช้ยันจำเลยซึ่งกระทำในนามของรัฐได้ แม้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 4 วรรคแรก จะบัญญัติให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ ซึ่งโจทก์สำนวนที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้แจ้งการครอบครองที่พิพาทไว้แล้วก็ตาม แต่ตามวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวก็บัญญัติว่า การแจ้งการครอบครองตามวรรคแรกนั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใดดังนั้นที่พิพาทจึงยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่เช่นเดิม โจทก์หามีสิทธิครอบครองไม่ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิอย่างใดในที่พิพาทอันจะเรียกร้องให้จำเลยซึ่งเข้าครอบครองที่ดินตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในท้องที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2499 จำต้องจัดสรรที่ดินหรือจ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินแก่โจทก์”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ