คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1659/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนี้ที่ลูกจ้างมีข้อผูกพันจะต้องชำระให้นายจ้างตามข้อบังคับของนายจ้างจะต้องเป็นหนี้ที่ลูกจ้างมิได้โต้แย้งและจำนวนหนี้ต้องกำหนดไว้แน่นอน นายจ้างจึงจะมีสิทธิหักเงินบำเหน็จของลูกจ้างได้ ฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ลูกจ้างปฏิเสธและเป็นหนี้ที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล เช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นหนี้ที่ลูกจ้างมีข้อผูกพันต้องชดใช้ให้นายจ้าง นายจ้างยังไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จของลูกจ้างเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จ และค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จโดยระหว่างที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ยืมเงินไปโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยการยืมเงินทดรองแต่โจทก์ยังมิได้จัดการส่งใช้เงินคืน นอกจากนี้โจทก์ได้กระทำการจนจำเลยถูกฟ้องที่ศาลแพ่งให้ชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยหากจำเลยต้องชดใช้หนี้ดังกล่าว โจทก์มีหน้าที่ต้องชดใช้คืนแก่จำเลยตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ จำเลยจึงมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาหักออกจากเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับปรากฏว่าโจทก์ยังต้องชดใช้เงินแก่จำเลยอีก จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 52,380 บาท เงินบำเหน็จจำนวน 200,790 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อบังคับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ข้อ 12ที่ว่าพนักงานที่มีข้อผูกพันจะต้องชดใช้เงินให้แก่องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปหักเงินบำเหน็จของพนักงานผู้นั้นจนครบตามข้อผูกพันเสียก่อนแล้วจึงจ่ายส่วนที่เหลือแก่พนักงาน นั้น เป็นข้อตกลงที่มีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์จำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิขอหักหนี้ตามคำให้การจากยอดเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับจากจำเลยโดยชอบขอให้นำเงินที่โจทก์มีภาระผูกพันต้องชดใช้แก่จำเลยเป็นเงิน1,365,363.08 บาท หักออกจากยอดเงินบำเหน็จที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยจำนวน 200,790 บาทด้วย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าหนี้ที่จะถือเป็นข้อผูกพันจะต้องชดใช้เงินตามข้อ 12 ต้องเป็นหนี้ที่พนักงานมิได้โต้แย้งและจำนวนหนี้ต้องกำหนดได้แน่นอนมิฉะนั้นจำเลยอาจหักเงินบำเหน็จได้ตามอำเภอใจ แต่หนี้จำนวนแรกที่จำเลยอ้างว่า โจทก์จัดซื้อซากโค กระบือโดยไม่ทำใบสั่งซื้อและสัญญาซื้อขาย เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายเป็นเงิน 28,000 บาทกับหนี้จำนวนที่สองที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ยืมเงินทดรองไปจากจำเลยจำนวน 2,200 บาท แล้วโจทก์มิได้ทำใบสำคัญการจ่ายให้ถูกต้องหรือนำเงินมาคืนแก่จำเลย นั้น โจทก์แถลงปฏิเสธหนี้ทั้งสองจำนวนนี้ในวันนัดพิจารณาโดยอ้างว่าได้ส่งใบสำคัญการจ่ายสำหรับเงินทดรองให้จำเลยแล้ว และสำหรับความเสียหายจากการจัดซื้อซากโคกระบือก็ปรากฏจากบันทึกสรุปผลการสอบสวนทางวินัย ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ด้วยว่า คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าความเสียหายไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของโจทก์ ส่วนหนี้จำนวนสุดท้ายที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กระทำการจนจำเลยถูกนายสกล ขจรศักดิ์ชัยฟ้องให้ชำระหนี้จำนวน 1,335,163.08 บาท ก็ปรากฏจากคำแถลงของจำเลยว่า คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาที่ศาลแพ่ง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีข้อผูกพันต้องใช้เงินทั้งสามจำนวนแก่จำเลยตามข้อบังคับข้อ 12 จำเลยไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามคำให้การ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share