คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7400/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระขอให้ยึดที่ดินจำนองของจำเลยซึ่งมีข้อความบันทึกไว้ในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดห้ามโอนภายในห้าปีตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 มาตรา 44 วรรคหนึ่งออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ก่อน หากจำเลยไม่ชำระจึงจะขอให้บังคับจำนองที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ในภายหลังต่อไป ฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินกู้แก่โจทก์จึงไม่เป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดเกี่ยวกับที่ดินจึงไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ส่วนฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำนองที่ดิน เป็นการฟ้องบังคับจำนองที่ดินของจำเลยซึ่งได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน เมื่อขณะโจทก์ยื่นฟ้องยังไม่พ้นกำหนดห้ามโอนภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ที่ดินจำนองของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 มาตรา 44 วรรคสองฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองที่ดินดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2527 จำเลยได้จำนองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1851 ตำบลท่าไม้อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 4310เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 26 6/10 ตารางวา ของจำเลยไว้แก่โจทก์เพื่อประกันการกู้เงินจำนวน 51,800 บาท มีกำหนดเวลา 1 ปี โดยจำเลยยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ยอมชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์ โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยไม่นำเงินมาชำระ โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันจำนองถึงวันบอกกล่าวเพียง 5 ปี เป็นเงิน 38,850 บาทรวมกับต้นเงินเป็นเงิน 90,650 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน90,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 51,800บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหากจำเลยไม่ชำระขอให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4301 ตำบลท่าไม้อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 26 6/10ตารางวา ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 4301ไว้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่เพียง 9 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวาเท่านั้นและจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 35,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4 ต่อเดือน โดยพลการเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 16,800 บาทรวมกับต้นเงินจึงเป็นเงิน 51,800 บาท แล้วโจทก์ระบุจำนวนเงินดังกล่าวลงในสัญญาจำนองโดยจำเลยไม่ทราบข้อความเพราะไม่รู้หนังสือเขียนได้แต่ชื่อเท่านั้น สัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 90,650 บาท แก่โจทก์กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 51,800 บาท นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้โจทก์ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4301 ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสงจังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 26 6/10 ตารางวาออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีเพียง 90,650 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ยื่นฎีกา มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เฉพาะข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2527 จำเลยได้ทำสัญญาจำนองที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 1851 ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่9 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา ไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป ปรากฏตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.2ในเอกสารนี้ระบุจำนวนหนี้จำนองเป็นเงิน 51,800 บาท กำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนไม่มีการไถ่ถอนจำนอง ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำนองเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 4301 ระบุเนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 26 6/10 ตารางวา และได้จดแจ้งการจำนองไว้ในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดดังกล่าว กับมีข้อความบันทึกไว้ด้วยว่าห้ามโอนภายใน 5 ปี ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2533ปรากฏตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 มาตรา 44 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ได้รับสิทธิในที่ดินจะโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดโดยทางมรดก” และวรรคสองบัญญัติว่า “ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระขอให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4301ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนหากจำเลยไม่ชำระจึงจะขอให้บังคับจำนองที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ในภายหลังต่อไป ฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงไม่เป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4301 แต่อย่างใดเลยจึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องดังกล่าวได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกฟ้องโจทก์ในข้อนี้โดยยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด จึงเป็นการไม่ชอบฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำนองที่ดินนั้น เป็นการฟ้องบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4301 ของจำเลยซึ่งได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2534 ซึ่งนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2533อันเป็นวันที่ทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือนับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2533 อันเป็นวันเริ่มกำหนดห้ามโอนตามที่บันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวถึงวันที่ 9 เมษายน2534 ยังไม่พ้นกำหนดห้ามโอนภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน ที่ดินโฉนดเลขที่ 4301 จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 มาตรา44 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4301 ดังศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวเสียก่อน เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share