แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพที่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน และมีที่นั่ง 7 ที่นั่ง ซึ่งเป็นรถยนต์ดัดแปลงอันจะต้องเสียภาษีสรรสามิตด้วย โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการดัดแปลง จึงมีหน้าที่เสียภาษีตามมูลค่าจากการดัดแปลงตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 144 เบญจ และต้องชำระภาษีดังกล่าวเมื่อการดัดแปลงสิ้นสุดลงตามมาตรา 144 จัตวา แม้หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ระบุให้เป็นสิทธิของผู้ซื้อที่จะดำเนินการใด ๆ ในการยื่นคำร้องขอโอนทะเบียนและเปลี่ยนแปลงชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนของทางราชการเอง ก็มิได้มีข้อตกลงว่าโจทก์จะเป็นผู้ชำระภาษีสรรพสามิตเอง โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระภาษีดังกล่าว แต่เป็นหน้าที่ของจำเลย ทั้งนี้เพื่อให้โจทก์สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถเป็นชื่อโจทก์ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์มาเป็นชื่อโจทก์ เพื่อให้โจทก์สามารถใช้รถยนต์ได้ตามวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาซื้อขาย มิใช่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายเพราะความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 แต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้ซื้อรถยนต์ตู้นั่งสี่ตอน 7 ที่นั่ง ยี่ห้อเชฟโรเลต หมายเลขทะเบียน 2 ฝ-9411 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยในราคา 700,000 บาท โจทก์ชำระราคาให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยส่งมอบรถยนต์ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และเอกสารในการโอนทะเบียนให้แก่โจทก์ให้นำไปดำเนินการโอนทางทะเบียนเอง โดยไม่แจ้งความจริงให้โจทก์ทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวนี้ตามสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ระบุไว้เป็นรถยนต์ตู้ 11 ที่นั่ง แต่มีการดัดแปลงเป็นรถยนต์ตู้ 7 ที่นั่ง ซึ่งจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงต่อกรมสรรพสามิต และจำเลยยังมิได้ชำระภาษีดังกล่าวให้แก่กรมสรรพสามิต เมื่อโจทก์ไปดำเนินการโอนทางทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถยนต์เป็นชื่อโจทก์ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการโอนเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ได้ จะต้องให้เจ้าของเดิมคือจำเลยไปดำเนินการชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงต่อกรมสรรพสามิตเสียก่อนจึงจะสามารถโอนเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนมาเป็นชื่อโจทก์ได้ เจ้าหน้าที่สรรพสามิตตรวจสอบและประเมินภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงคันดังกล่าวเป็นเงิน 123,123 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงจำนวนดังกล่าวแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะหากเจ้าหน้าที่สรรพสามิตตรวจพบอาจยึดรถยนต์คันดังกล่าวและจะต้องชำระค่าปรับในอัตราอย่างสูง ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์ดังกล่าวออกแล่นตามปกติได้ ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ดังกล่าว โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงินวันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อโจทก์เสร็จสิ้น ขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ฝ-9411 กรุงเทพมหานคร มาเป็นชื่อโจทก์ หากจำเลยไม่ไปโอนขอให้จำเลยชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงจำนวน 123,123 บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะได้โอนทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า หลังจากที่จำเลยซื้อรถยนต์คันพิพาทมาแล้วจำเลยมิได้ทำการดัดแปลง ต่อเติม หรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับสภาพของรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยเสียภาษีการโอนและภาษีประจำปี (ภาษีป้ายวงกลม) ตลอดมา ในการต่อทะเบียนภาษีรถยนต์ประจำปีมีการตรวจสภาพรถยนต์ หากรถยนต์คันพิพาทมีการดัดแปลงเจ้าพนักงานจะไม่ทำการต่อทะเบียนภาษีรถยนต์ให้แก่จำเลย ก่อนที่โจทก์จะซื้อรถยนต์จากจำเลย โจทก์ได้ตรวจสภาพรถยนต์และสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์แล้ว เมื่อเห็นว่าสภาพรถยนต์ถูกต้องตรงตามสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และไม่มีความชำรุดบกพร่องจึงตกลงซื้อรถยนต์ดังกล่าวในราคา 700,000 บาท โดยได้ชำระราคารถยนต์ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทพร้อมสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชนให้แก่โจทก์ไปดำเนินการโอนเอง โดยโจทก์จะเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าภาษีเอง หลังจากนั้นโจทก์นำรถยนต์พิพาทไปใช้ประโยชน์เรื่อยมา การซื้อขายจึงสำเร็จบริบูรณ์ จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่ต้องรับผิดชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงตามที่ฟ้อง และโจทก์มิได้ฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีการส่งมอบรถยนต์พิพาท ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงจำนวน 123,123 บาท แก่โจทก์และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 สิงหาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงแก่โจทก์ครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดนกำหนดค่าทนายความ 600 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยในราคา 700,000 บาท โจทก์ชำระราคารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ในวันเดียวกัน พร้อมสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ แบบคำขอโอนและรับโอนใบมอบอำนาจ สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชนให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของรถเป็นชื่อโจทก์เอง ตามแบบคำขอโอนและรับโอน ใบมอบอำนาจ สำเนารายการจดทะเบียน และหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนรถแต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้เนื่องจากรถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ที่ถูกดัดแปลงเป็นรถยนต์ 7 ที่นั่ง จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงเสียก่อน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ขณะที่จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ รถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์ดัดแปลงสภาพเป็นรถยนต์ 7 ที่นั่ง และยังมิได้ชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า หลังจากที่โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลย โจทก์สามารถชำระภาษีรถยนต์ประจำปีโดยชำระภาษีทางไปรษณีย์ แต่เมื่อโจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนรถเป็นชื่อโจทก์ และขอโอนรถยนต์พิพาทไปใช้ที่จังหวัดชลบุรีที่สำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 3 กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เจ้าหน้าที่ขนส่งไม่ดำเนินการให้ โดยแจ้งว่าจะต้องมีใบเสร็จชำระค่าภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงด้วยจึงจะดำเนินการจดทะเบียนรถเป็นชื่อโจทก์ได้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงตามหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.5 จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วตามใบตอบรับเอกสารหมาย จ.6 แต่เพิกเฉย หลังจากนั้นโจทก์ไปติดต่อที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่จังหวัดชลบุรีเพื่อขอทราบภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลง เจ้าหน้าที่สรรพสามิตประเมินภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงคันพิพาทเป็นเงิน 123,123 บาท ตามสำเนาประกาศ สำเนาแบบรายการภาษีสรรพสามิตเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระภาษีจำนวนดังกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย และโจทก์มีนายมนตรีซึ่งรับราชการอยู่ที่สำนักงานขนส่งเขตพื้นที่ 3 กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมตำแหน่งหัวหน้างานตรวจสภาพรถ มีหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์ทุกชนิดที่มาทำการจดทะเบียนโอนหรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของตัวรถที่ขอจดทะเบียนเป็นพยานเบิกความว่า พยานตรวจสภาพรถยนต์พิพาทแล้ว รถยนต์ดังกล่าวเป็นรถที่ไม่สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของเป็นชื่อโจทก์ได้ เนื่องจากมิได้เสียภาษีสรรพสามิตให้ถูกต้องกล่าวคือ รถยนต์ดังกล่าวระบุในใบรายการจดทะเบียนว่าเป็นรถยนต์โดยสารมี 11 ที่นั่ง แต่รถยนต์พิพาทมีที่นั่งเพียง 7 ที่นั่ง จะต้องชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนรถได้ พยานแนะนำให้โจทก์นำรถคันดังกล่าวไปเสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงที่กรมสรรพสามิตเสียก่อน และโจทก์มีนางสาวประภาพรรณซึ่งรับราชการอยู่ที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่จังหวัดชลบุรี ตำแหน่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิต เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์นำภาพถ่ายรถยนต์พิพาทไปให้พยานดูและสอบถามเกี่ยวกับการเสียภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์คันดังกล่าว พยานดูแล้วเห็นว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์โดยสารมีที่นั่งเกิน 10 ที่นั่ง แต่นำมาดัดแปลงเป็นรถยนต์โดยสารมีที่นั่งไม่ถึง 10 ที่นั่ง จำต้องเสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงในอัตราร้อยละ 41 เป็นเงิน 123,123 บาท ส่วนจำเลยมีนายธนากรเป็นพยานเบิกความว่าเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2543 จำเลยมอบหมายให้พยานนำรถยนต์พิพาทไปส่งมอบให้แก่โจทก์ ขณะส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวมีเบาะที่นั่ง 3 แถว สามารถนั่งได้ประมาณ 10 คน เห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า รถยนต์พิพาทมีลักษณะเป็นรถยนต์ 7 ที่นั่ง นั้น โจทก์มีภาพถ่ายรถยนต์หมาย จ.1 และ ป.จ.1 ของศาลแขวงพระโขนง เป็นพยานหลักฐานสนับสนุน ทั้งยังมีนายมนตรีซึ่งเป็นผู้ตรวจสภาพรถยนต์พิพาทเป็นพยานยืนยันว่า รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ที่มีการดัดแปลงจากรถยนต์ 11 ที่นั่ง เป็นรถยนต์ 7 ที่นั่ง จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงเสียก่อนจึงจะจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของเป็นชื่อโจทก์ได้ กับมีนางสาวประภาพรรณซึ่งเป็นผู้ประเมินภาษีสรรพสามิตรถยนต์พิพาทเป็นพยานสนับสนุนว่า รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ดัดแปลง จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดัดแปลงเป็นเงิน 123,123 บาท นายมนตรีและนางสาวประภาพรรณเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง คำเบิกความของนายมนตรีและนางสาวประภาพรรณสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จำเลยให้การว่า หลังจากที่จำเลยซื้อรถยนต์พิพาทมาแล้วจำเลยมิได้ทำการดัดแปลง ต่อเติม หรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับสภาพของรถยนต์คันดังกล่าว แต่จำเลยหาได้มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนไม่ คงมีแต่เพียงคำเบิกความของนายธนากรว่าขณะส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ รถยนต์ดังกล่าวมีเบาะที่นั่ง 3 แถว สามารถนั่งได้ประมาณ 10 คน ซึ่งขัดแย้งกับภาพถ่ายรถยนต์หมาย จ.1 และ ป.จ.1 ของศาลแขวงพระโขนง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารถยนต์พิพาทมีที่นั่ง 7 ที่นั่ง จึงไม่น่าเชื่อ หากรถยนต์พิพาทมีสภาพเป็นรถยนต์ 7 ที่นั่ง ตั้งแต่ขณะที่จำเลยซื้อมาจริงแล้ว ใบรายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.3 จะต้องระบุประเภทรถยนต์พิพาทว่าเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน และระบุว่ามีที่นั่ง 7 ที่นั่ง การที่ใบรายการจดทะเบียนระบุประเภทรถยนต์ว่า รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน และระบุจำนวนที่นั่งว่ามี 11 ที่นั่ง แสดงว่าขณะที่จำเลยรับโอนรถยนต์พิพาทมานั้น รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน และมีที่นั่ง 11 ที่นั่ง หาใช่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 7 ที่นั่ง ดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไม่ ประกอบกับจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่ารถยนต์พิพาทมีสภาพแตกต่างไปจากขณะที่จำเลยส่งมอบให้แก่โจทก์อย่างไร จึงรับฟังได้ว่าขณะที่จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน และมีที่นั่ง 7 ที่นั่ง ซึ่งเป็นรถยนต์ดัดแปลงอันจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วย ตามใบรายการจดทะเบียนระบุว่าจำเลยครอบครองรถยนต์พิพาทแต่ผู้เดียวมาตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2537 จนถึงวันที่ทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวจึงมีหน้าที่เสียภาษีตามมูลค่าจากการดัดแปลง ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 144 เบญจ และจำเลยจะต้องชำระภาษีดังกล่าว เมื่อการดัดแปลงสิ้นสุดลงตามมาตรา 144 จัตวา แม้หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย จ.4 จะระบุให้เป็นสิทธิของผู้ซื้อที่จะดำเนินการใด ๆ ในการยื่นคำร้องขอโอนทะเบียนและเปลี่ยนแปลงชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนของทางราชการเอง แต่สัญญาดังกล่าวก็มิได้มีข้อตกลงว่าโจทก์จะเป็นผู้ชำระภาษีสรรพสามิตเอง โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระภาษีดังกล่าว แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องชำระภาษีดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้โจทก์สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถเป็นชื่อโจทก์ได้ การที่จำเลยไม่ชำระภาษีดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของรถเป็นชื่อโจทก์ได้ ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทมาเป็นชื่อโจทก์และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 123,123 บาท แก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์รับมอบรถยนต์พิพาทเมื่อปี 2543 โจทก์ย่อมทราบ ถึงการดัดแปลงรถยนต์พิพาทแล้วตั้งแต่เวลานั้น แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อปี 2545 เกินกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทมาเป็นชื่อโจทก์ เพื่อให้โจทก์สามารถใช้รถยนต์พิพาทได้ตามวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาซื้อขาย หาใช่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายเพราะความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทไม่ ความรับผิดของจำเลยจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 474 แต่ต้องอยู่ในบังคับอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ คำแก้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการวม 5,000 บาท