คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6459/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การรับสภาพหนี้ของลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) นั้น ต้องมีข้อความแสดงเจตนาของลูกหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้ โดยที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องและลูกหนี้ยอมรับในสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นแล้วจะชำระหนี้ให้ แต่หนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องมีเพียงข้อความระบุจำนวนเดือน วันเดือนปี ดอกเบี้ย ต้นทุนหรือต้นเงิน และคำว่ารวมและมีลายมือชื่อของจำเลยลงไว้ในตอนท้ายเท่านั้น ไม่มีข้อความระบุว่าใครเป็นหนี้อะไรแก่ผู้ใด และตกลงจะชำระหนี้ให้แก่ผู้นั้นหรือไม่อย่างไร จึงยังไม่พอฟังว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2537 จำเลยนำเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จำนวนเงิน 200,000 บาท ลงวันที่ 20 มกราคม 2537 โดยมีนายประศักดิ์ ศรีอุทวงศ์ (ที่ถูกน่าจะเป็นศรีอุทธวงศ์) สามีจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ 200,000 บาท แล้วจำเลยกู้เงินโจทก์อีก 90,000 บาท รวมเป็นเงิน 290,000 บาท ซึ่งต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ว่าจำเลยเป็นหนี้ต้นเงิน 290,000 บาท และเป็นหนี้ค่าดอกเบี้ย 95,700 บาท รวมเป็นเงิน 385,700 บาท แต่หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย สำหรับหนี้ค่าดอกเบี้ยดังกล่าวโจทก์ขอเรียกเพียง 87,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 377,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 377,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 290,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยนำเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาย่อยวังสมบูรณ์จำนวนเงิน 200,000 บาท ซึ่งนายประศักดิ์ ศรีอุทธวงศ์ เป็นผู้สั่งจ่ายไปแลกเงินสดจากโจทก์ มูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายประศักดิ์ จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำเลยไม่เคยกู้เงิน 90,000 บาท จากโจทก์ และจำเลยไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์นำเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของจำเลยที่ลองลงลายมือชื่อไว้เมื่อครั้งที่จำเลยเคยกู้เงินโจทก์มากรอกข้อความ โดยจำเลยไม่รู้เห็นยินยอม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าเอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าเอกสารดังกล่าว มีข้อความว่า 11 เดือน – 38 เบิกเงินรวม 1 มีนาคม – 39 ดอก95,700 ต้นทุน 290,000 รวม 385,700 แล้วมีลายมือชื่อจำเลยลงไว้ 2 แห่ง คือถัดจากตัวเลข 385,700 และในตอนท้าย ไม่มีข้อความระบุว่าใครเป็นหนี้อะไรแก่ผู้ใด และตกลงจะชำระหนี้ให้แก่ผู้นั้นหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) บัญญัติว่า ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ฯลฯ การรับสภาพหนี้ในกรณีที่ทำเป็นหนังสือจึงต้องมีข้อความแสดงเจตนาของลูกหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้ โดยที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องและลูกหนี้ยอมรับในสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้แล้วจะชำระหนี้ให้ แต่ตามเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์หรือไม่ ในมูลหนี้ใดและจำเลยยอมรับว่าจะชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นแก่โจทก์ การที่เอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุจำนวนเดือน วันเดือนปี ดอกเบี้ยต้นทุนหรือต้นเงิน และคำว่ารวมเพียงเท่านี้ยังไม่พอฟังว่าเป็นหนังสือแสดงเจตนาของจำเลยในการรับสภาพต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์อ้างมาในฟ้อง ดังนั้น เอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องจึงมิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมามีข้อเท็จจริงและปัญหาที่วินิจฉัยไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share