แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกู้ยืมเงินนั้น ป.พ.พ.ม.653 มิได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมเงินเป็นหลักฐานในเอกสาร
เมื่อโจทก์มีหนังสืออันอาจแสดงความเป็นหนี้ลงลายมือชื่อลูกหนี้ ก็เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้
ย่อยาว
เดิมโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินไป ๑๐,๐๐๐ บ. จำเลยไม่ชำระจึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ
จำเลยสู้ว่าไม่เคยทำหนังสือกู้ยืมเงินและรับเงินจากโจทก์ สัญญาท้ายฟ้องไม่ใช่สัญญากู้ เป็นเพียงใบรับเงินเท่านั้น ความจริงจำเลยกับนางสุมนากู้เงินโจทก์และสามี ๒๐,๐๐๐ บ. โจทก์จ่ายให้เพียง ๑๐,๐๐๐ บ.นอกนั้นจะให้ในคราวต่อไป โจทก์กับสามีให้จำเลยเขียนใบรับเงินเป็นหลักฐาน ต่อมาจำเลยได้ชำระเงินจำนวนนั้นแล้ว
ก่อนวันชี้สองสถานโจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องว่าการกู้เงินตามฟ้องนั้นจำเลยได้ทำใบรับเงินชั่วคราวให้ไว้ก่อน เพราะเป็นการด่วน จำเลยจะเซ็นสัญญากู้ให้ภายหลังแต่แล้วจำเลยก็ไม่ยอมทำให้
จำเลยขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อ ก.ม. เบื้องต้น ศาลจังหวัดศรีษะเกศ เห็นด้วยเลยสั่งให้งดสืบพยาน ทั้งมิได้มีคำสั่งคำร้องของโจทก์ที่ขอเพิ่มเติมฟ้องประการใด แล้ววินิจฉัยว่าสำเนาเอกสารท้ายฟ้องและคำร้องเพิ่มเติมฟ้องไม่มีข้อความว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ จึงไม่เป็นหลักฐานในคดีกู้เงิน พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องได้ตาม+
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ป.พ.พ.ม.๖๕๓ มิได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกันว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมเป็นหลักฐานในเอกสารเมื่อโจทก์มีหนังสืออันอาจแสดงความเป็นหนี้ลงลายมือชื่อลูกหนี้ มาอ้างเช่นนี้ก็อาจเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์