แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤติกรรมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่เข้าเป็นตัวการในการทำสัญญาขนส่งกับผู้ส่งด้วยตนเองในการจัดการขนส่งต่อเนื่องจากลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังจนถึงลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เข้าลักษณะเป็นผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ที่บัญญัติไว้ว่า”ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเล เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติโดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่ามีการขนส่งหลายช่วง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งช่วงสุดท้ายแต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่น ตามพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 หากผู้ขนส่งอื่นประพฤติผิดสัญญาขนส่ง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ขนส่งอื่นมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1โดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งอันเป็นการประพฤติผิดบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และ 28 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับชำระราคาสินค้าที่ขนส่ง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเที่ยวที่ตนรับขนส่งแก่โจทก์นับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้คำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน23,814.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน23,325,144.15 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมชำระเงินจำนวน 13,762,808.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 13,480,276.25 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 4 ร่วมชำระเงินจำนวน 10,051,205.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 9,844,867.90 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการเป็นตัวแทนเรือของบริษัทแปซิฟิกบริดจ์ เซอร์วิสเซส จำกัด เรียกชื่อย่อว่า บริษัทพีบีเอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจขนส่งทางทะเล มีสำนักงานอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง ก่อนการขนส่งสินค้าเที่ยวที่เกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ว่าจ้างบริษัทพีบีเอส จำกัด ให้ขนส่งสินค้าในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว 10 เที่ยว ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของบริษัทพีบีเอส จำกัด ในการประสานงานกับโจทก์สำหรับกิจการที่ต้องทำในประเทศไทย การขนส่งสินค้าทั้งสิบเที่ยวดังกล่าว บริษัทพีบีเอส จำกัดปล่อยสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งและเอกสารการขนส่งซึ่งเป็นแนวการปฏิบัติของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง บริษัทพีบีเอส จำกัด และจำเลยที่ 3 จึงมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ความเสียหายของโจทก์เป็นเงินจำนวนไม่ถึง 13,762,808.07 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เคยติดต่อขอชำระเงินค่าสินค้าแก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับเพื่อใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทยขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ทำการขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง หากแต่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 4 ได้รับการติดต่อจากบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ให้ทำการส่งสินค้าตามคำฟ้องจากท่าเรือแหลมฉบังไปให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ท่าเรือฮ่องกง จำเลยที่ 4 มีหน้าที่เพียงจองระวางเรือเพื่อการขนส่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือฮ่องกงและออกใบตราส่งให้โจทก์เป็นหลักฐานระบุการขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือซานเตา โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้รับตราส่ง มีหน้าที่ต้องจัดส่งสินค้าต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ณ เมืองซานเตาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน การออกใบปล่อยสินค้าเพื่อให้ผู้รับตราส่งไปรับสินค้าจากเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือซานเตาไม่อยู่ในอำนาจและความรับผิดของจำเลยที่ 4 ก่อนการขนส่งสินค้าเที่ยวที่เกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ว่าจ้างบริษัทพีบีเอส จำกัด ให้ขนส่งสินค้าในลักษณะและวิธีเดียวกันให้แก่จำเลยที่ 2 มาแล้ว 10 เที่ยว ซึ่งมีการปล่อยสินค้าโดยไม่มีใบตราส่ง ปกติทางการค้าของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 รับสินค้าไปก่อนแล้วชำระเงินภายหลังจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มิได้รับความเสียหายเป็นเงินถึงจำนวน10,051,205.54 บาท เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยติดต่อชำระเงินค่าสินค้าแก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทยขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 10,189,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 9,980,276 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 ตุลาคม 2540)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 150,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติในเบื้องต้นตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่โต้แย้งกันว่า เมื่อวันเวลาตามคำฟ้อง โจทก์ทำสัญญาขายแผ่นฟิล์มหุ้มบรรจุภัณฑ์หลายชนิดให้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ว่าจ้างผู้ขนส่งให้ส่งสินค้าดังกล่าวไปให้จำเลยที่ 1 โดยการขนส่งทางทะเลด้วยเรือหมิง-แชมเปี้ยน เรือกัวฉิม และเรือกังเจนเมื่อส่งสินค้าไปถึงปลายทาง มีผู้รับสินค้าไปโดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่งให้แก่ผู้ขนส่งทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระค่าสินค้า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวทางทะเลหรือไม่ โจทก์มีนายวัลลภคุญานุกรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12 และ จ.16 และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้องทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ที่เมืองซานเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 4 เที่ยว โดยจำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้ามูลค่าจำนวน 13,480,276.25 บาทเป็นจำนวน 3 เที่ยว และจำเลยที่ 4 ขนส่งสินค้ามูลค่าจำนวน 9,844,867.90 บาท เป็นจำนวน 1 เที่ยว เมื่อโจทก์ชำระค่าระวางบรรทุก จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ออกใบตราส่งและใบเสร็จรับเงินให้ ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12 และ จ.16 และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ส่วนจำเลยที่ 3 มีนายสมบูรณ์ วลีอิทธิกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 มีนายมนูญ เฟืองการกล กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 4 เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่ง โดยจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของบริษัทพีบีเอส จำกัด ซึ่งอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และได้รับมอบหมายจากบริษัทพีบีเอส จำกัด ให้เป็นตัวแทนในการดูแลการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและต่อจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงไปยังประเทศสาธารณประชาชนจีน โดยทำหน้าที่ติดต่อกับโจทก์เพื่อจัดเตรียมตู้สินค้าให้โจทก์ใช้บรรจุสินค้าและกำหนดเวลาในการส่งสินค้าให้แก่โจทก์ รวมทั้งออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8 และ จ.12 เก็บค่าระวาง และออกใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.21 ส่วนจำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายจากบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ซึ่งอยู่ที่ไต้หวันให้ดำเนินการต่าง ๆ ตามสำเนาโทรสารเอกสารหมาย ล.10 โดยให้ติดต่อกับโจทก์ จองระวางเรือ และจัดส่งสินค้าไปให้แก่จำเลยที่ 2 รวมถึงออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.16 เก็บค่าระวาง และออกใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.21 เห็นว่านายสมบูรณ์และนายมนูญต่างเบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่างเป็นผู้ออกใบตราส่งให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8 และ จ.12เพื่อการบรรทุกสินค้ารวม 3 เที่ยว ส่วนจำเลยที่ 4 ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.16เพื่อการบรรทุกสินค้า 1 เที่ยว และต่างเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.20 และจ.21 เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อความต่าง ๆ ในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8 และ จ.12ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งระหว่างโจทก์ผู้ส่งกับผู้ขนส่งที่โจทก์เข้าทำสัญญาด้วยแล้วจะเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นใบตราส่งที่ออกในนามจำเลยที่ 3 และที่ 4 อย่างแท้จริงและไม่มีข้อความใด ๆ ในเอกสารที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกใบตราส่งแทนผู้ใดสำหรับใบตราส่งเอกสารหมาย จ.16 ก็ระบุชัดว่าเป็นการออกในฐานะผู้ขนส่ง นอกจากนี้ใบตราส่งทั้งหมดดังกล่าวเป็นใบตราส่งสำหรับการขนส่งต่อเนื่อง (combined transport)ซึ่งผู้ขนส่งตามใบตราส่งดังกล่าวตกลงรับจัดการขนส่งนับแต่เวลาที่ได้รับสินค้าไว้ที่ลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบสินค้าที่ลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ใช่เพียงตกลงรับจัดการขนส่งเฉพาะในช่วงจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือฮ่องกงตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.10 แผ่นที่ 27, 39, 43 และใบตราส่งเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งที่จำเลยที่ 3 และที่ 4ทำกับสายการเดินเรือเพื่อให้ทำการขนส่งสินค้าตามคำฟ้องจากท่าเรือแหลมฉบังไปจนถึงท่าเรือฮ่องกงก็เจือสมกับใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12 และ จ.16 เพราะปรากฏตามใบตราส่งดังกล่าวว่าเพื่อให้การดำเนินการตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12และ จ.16 ลุล่วงไป จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญากับสายการเดินเรือให้ทำการขนส่งเฉพาะในช่วงท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือฮ่องกงในนามของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เอง โดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ส่ง ไม่ได้ระบุว่าเป็นการทำสัญญาแทนบริษัทพีบีเอส จำกัดหรือบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด หรือแทนโจทก์ ทั้งตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.10แผ่นที่ 27, 39, 43 ยังระบุชื่อบริษัทพีบีเอส จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง ซึ่งสอดคล้องกันกับข้อความที่มุมล่างด้านซ้ายของใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8 และ จ.12 ที่ระบุว่าบริษัทพีบีเอส จำกัด เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งตามใบตราส่งดังกล่าว กับตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ก็เป็นหลักฐานที่แสดงอยู่ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินค่าระวางเอง โดยไม่ได้ระบุว่าออกไว้แทนผู้ใด ค่าระวางดังกล่าวเป็นค่าระวางตลอดเส้นทางจากลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังไปจนถึงลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตา ไม่ใช่เป็นเพียงค่าระวางจากท่าเรือแหลมฉบังไปถึงท่าเรือฮ่องกง การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อ้างว่าการดำเนินการทั้งหมดจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับเพียงเงินค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนจากบริษัทพีบีเอส จำกัด และบริษัทแวกอนชิปปิ้งเอเยนซี่ จำกัด นั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับรู้ด้วย จำเลยที่ 3 และที่ 4 กับบริษัทดังกล่าวจะมีข้อตกลงกันเองอย่างไร จะแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร ในลักษณะใดเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับบริษัทนั้นเอง ไม่เกี่ยวกับความผูกพันของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ทำไว้กับโจทก์ ซึ่งในเรื่องนี้นายมนูญเองก็เบิกความในทำนองว่า จำเลยที่ 4 และบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ประกอบธุรกิจร่วมกันโดยเป็นตัวแทนของกันและกันมีบางกรณีที่บริษัทดังกล่าวดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 4 ทั้งตามสำเนาโทรสารของบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ที่มีถึงจำเลยที่ 4 ตามเอกสารหมาย ล.1 ก็ปรากฏว่าเงินค่าระวางที่จำเลยที่ 4 เก็บมาจากโจทก์ บริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด จะเรียกเก็บจากจำเลยที่ 4 จำนวน 35 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตู้สินค้า เพื่อให้แก่บริษัทแวกอนชิปปิ้งเอเยนซี่ จำกัด และตัวแทนที่เมืองซานเตาเป็นค่าส่วนแบ่งกำไร ไม่ใช่เป็นเพียงค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนการเป็นตัวแทน นอกจากนั้นนายสมบูรณ์และนายมนูญต่างเบิกความรับว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประกอบธุรกิจคล้ายกัน โดยเฉพาะนายมนูญเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่างเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3และที่ 4 ตามที่ปรากฏจากพยานหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าดำเนินการติดต่อและตกลงกับโจทก์ในฐานะเป็นตัวการในการจัดการขนส่งต่อเนื่องจากลานวางตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบังจนถึงลานวางตู้สินค้าท่าเรือซานเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีบริษัทพีบีเอส จำกัด และบริษัทแวกอนชิปปิ้ง เอเยนซี่ จำกัด ร่วมในการจัดการขนส่งหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในการดำเนินการขนส่งสินค้าบางช่วง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 จึงเข้าลักษณะเป็นผู้ขนส่ง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ที่บัญญัติไว้ว่า “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า”บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติโดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ” แม้จำเลยที่ 4 จะมีนายอุทัย แซ่เกา นางสุณี เอกธีรจิตต์และนายปกรณ์ กังวาลสิงหนาท เป็นพยานเบิกความประกอบสำเนาโทรสาร 2 ฉบับเอกสารหมาย ล.12 และ ล.16 ว่าโจทก์น่าจะทราบจากการแจ้งของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อสินค้า ไม่ได้มีอาชีพประกอบกิจการขนส่งทางทะเล และจำเลยที่ 4 ไม่มีเรือเดินทะเลเป็นของตนเอง จึงอาจทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่ง แต่จากพฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ที่ติดต่อกับโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแสดงชัดว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ประกอบการขนส่งที่เข้าเป็นตัวการในการทำสัญญาขนส่งกับผู้ส่งด้วยตนเอง หาใช่ตัวแทนผู้ขนส่งดังที่จำเลยที่ 1 เข้าใจไม่ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้องทางทะเลอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4, จ.8, จ.12 และ จ.16ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งทางทะเลระบุว่าเป็นการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศไทยไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่ามีการขนส่งหลายช่วง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งช่วงสุดท้าย แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่น ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 หากผู้ขนส่งอื่นประพฤติผิดสัญญาขนส่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ขนส่งอื่นมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่จำเลยที่ 1โดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งอันเป็นการประพฤติผิดบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และ 28 เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้ชำระราคาสินค้าที่ขนส่ง ถือได้ว่าเป็นการผิดสัญญาขนส่งต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเที่ยวที่ตนรับขนส่งโดยต้องชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์นับแต่วันผิดสัญญา ส่วนที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าผู้ขนส่งอื่นเคยส่งมอบสินค้าของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่เวนคืนใบตราส่งก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้ว ก็ไม่อาจถือว่าผู้ขนส่งอื่นมิได้ประพฤติผิดบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในการขนส่งครั้งที่เกิดเหตุเป็นคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
อนึ่ง สำหรับเงินประกันความเสียหายจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยที่ 1 วางประกันการทำสัญญาซื้อขายสินค้าตามคำฟ้องกับโจทก์ และจำเลยที่ 4 ขอให้นำมาหักจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้นำมาหักจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 ไม่มีสิทธิในเงินประกันความเสียหายดังกล่าว จึงจะขอให้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 จะต้องใช้แก่โจทก์หาได้ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 10,051,205.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 9,844,867.90 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองศาลโดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง