คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8791/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานการเงิน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 โจทก์ได้ยื่นหนังสือขอลาออกตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 เมื่อถึงวันที่กำหนดในหนังสือขอลาออกโจทก์ก็ไม่ได้เข้ามาทำงานกับจำเลยอีก ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกต่อจำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ในหนังสือขอลาออก การจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แม้ว่าตามระเบียบของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน ฯ ข้อ 8 จะระบุว่า “พนักงานขอลาออกจากการเป็นพนักงานของสมาคมให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม และให้มีผลของการลาออกได้เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ” และคณะกรรมการดำเนินงานของจำเลยจะมีมติไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกก็ตาม แต่การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด เมื่อเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากงานโดยชอบ สัญญาจ้างแรงงานจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แล้ว ดังนี้จำเลยจึงไม่อาจเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ด้วยการเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 โดยอ้างว่าการที่โจทก์ลาออกเป็นการกระทำผิดระเบียบสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน ฯ ข้อ 9 (5) ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งได้สั่งในกิจการของสมาคม ฯ (6) ละทิ้งหน้าที่เป็นเหตุให้สมาคม ฯ เสียหายอย่างร้ายแรง (7) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่สมาคม ฯ อย่างร้ายแรง และ (9) ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร ตามหนังสือแจ้งผลการสอบวินัยความผิดอีกแต่อย่างใด คำสั่งจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานจึงไม่มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน 232,520 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินบำเหน็จจำนวน 212,520 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินประกันจำนวน 20,000 บาท คืนให้แก่โจทก์ คำขอให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานการเงิน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,180 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยมีข้อบังคับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.ล.4 และมีระเบียบ ฯ ตามเอกสารหมาย จ.ล.5 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกจากงานโดยระบุให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 แล้วโจทก์ไม่ได้เข้าทำงานกับจำเลยนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2547 คณะกรรมการดำเนินงานจำเลยประชุมและมีมติไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออก วันที่ 11 สิงหาคม 2547 จำเลยส่งหนังสือแจ้งมติที่ประชุมให้โจทก์ทราบ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 คณะกรรมการดำเนินงานจำเลยประชุมและมีมติไล่โจทก์ออกจากงานโดยไม่จ่ายเงินบำเหน็จ และจำเลยไม่ได้คืนเงินประกันแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2 และข้อ 3 ว่าโจทก์ลาออกจากงานโดยชอบหรือไม่ และการที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานเป็นการถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานการเงินนั้น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 โจทก์ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากงาน โดยขอลาออกตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 เมื่อถึงวันที่กำหนดในหนังสือขอลาออกโจทก์ก็ไม่ได้เข้ามาทำงานกับจำเลยอีก ดังนี้การที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกต่อจำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ในหนังสือขอลาออกนั้น การจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แม้ว่าตามระเบียบของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่ อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน พ.ศ.2546 เอกสารหมาย จ.ล.5 ข้อ 8 จะระบุว่า “พนักงานขอลาออกจากการเป็นพนักงานของสมาคมให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม และให้มีผลของการลาออกได้เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ” และคณะกรรมการดำเนินงานของจำเลยจะมีมติไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกก็ตาม แต่การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด เมื่อเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากงานโดยชอบ สัญญาจ้างแรงงานจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แล้ว ดังนี้จำเลยจึงไม่อาจเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ด้วยการเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 โดยอ้างว่าการที่โจทก์ลาออกเป็นการกระทำผิดระเบียบสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่ อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน พ.ศ.2546 ข้อ 9 (5) ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งได้สั่งในกิจการของสมาคม ฯ (6) ละทิ้งหน้าที่เป็นเหตุให้สมาคม ฯ เสียหายอย่างร้ายแรง (7) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่สมาคมอย่างร้ายแรง และ (9) ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร ตามหนังสือแจ้งผลการสอบวินัยความผิดอีกแต่อย่างใด คำสั่งจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานจึงไม่มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2 และข้อ 3 นี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 4 เป็นประการสุดท้ายที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือไม่นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งที่ไล่โจทก์ออกจากงานเป็นคำสั่งที่ชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตามระเบียบของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยเงินบำเหน็จ พ.ศ.2545 ข้อ 3 แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ลาออกจากงานไปก่อนเป็นเหตุให้สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดก่อนเลิกจ้าง จึงมิใช่กรณีพนักงานถูกไล่ออกที่จะทำให้ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามระเบียบข้อดังกล่าวแล้ว ซึ่งปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบข้างต้นแล้วจะต้องถูกหักชดใช้ความเสียหายหรือไม่และเพียงใดนั้นศาลแรงงานกลางยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัย จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนของเงินบำเหน็จ ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในส่วนของเงินบำเหน็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share