แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 บัญญัติให้บุตรผู้เยาว์ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาและให้อำนาจปกครองอยู่กับมารดาในกรณีที่บุตรเกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย และยังมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายโดยบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร และมาตรา 1556 ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างเด็กเป็นผู้เยาว์ถ้าเด็กอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ขณะโจทก์ยื่นฟ้อง เด็กหญิงธ.ผู้เยาว์อายุได้ 11 เดือนเศษ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรจึงมีอำนาจฟ้องแทนได้ และมาตรา 1565 บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ด้วยว่านอกจากอัยการจะฟ้องร้องแทนแล้ว ให้บิดาหรือมารดานำคดีขึ้นว่ากล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งให้รับผู้เยาว์เป็นบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร การที่โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าฟ้องคดีในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์จึงชอบแล้ว และฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยรับผู้เยาว์เป็นบุตรไม่เป็นคดีอุทลุม เพราะเป็นการฟ้องตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้โดยเฉพาะ จำเลยเป็นรองศาสตราจารย์และมีรายได้อื่นอีก ส่วนโจทก์ยังไม่มีอาชีพและรายได้ ผู้เยาว์จะต้องศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้นตามวัยศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์ตามวันอายุของผู้เยาว์เหมาะสมดีแล้ว เว้นแต่ที่กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตั้งแต่วันคลอดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาล มีผลนับแต่วันศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลทันทีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3)จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง ธ. เป็นบุตรทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20บัญญัติว่า เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้ ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ในส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงธิดาพร คงนุกูลผู้เยาว์ ซึ่งเกิดจากจำเลยเมื่อวันที่ 12ตุลาคม 2528 ทั้งนี้โดยจำเลยได้ร่วมประเวณีกับโจทก์ในระยะเวลาที่โจทก์อาจตั้งครรภ์ได้ กล่าวคือเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2525จำเลยซึ่งมีฐานะเป็นอาจารย์ของโจทก์ได้ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์จนสำเร็จความใคร่และจำเลยได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยข่มขู่หลอกลวงโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกศิษย์จนโจทก์ต้องยอมให้จำเลยกระทำชำเราอีกในเวลาต่อมาหลายครั้ง จนถึงระยะเวลาที่โจทก์ตั้งครรภ์ และได้คลอดเด็กหญิงธิดาพร โจทก์ไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับชายอื่นนอกจากจำเลย เด็กหญิงธิดาพรจึงเป็นบุตรของจำเลย จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำคลอดและค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ ทั้งได้จ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้เด็กหญิงธิดาพรเป็นจำนวน 10,000 บาท ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยผัดผ่อนและหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธิดาพรอีกขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตรของจำเลยหากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธิดาพรนับแต่คลอดจนถึงวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาเป็นเวลา25 ปี ในอัตราเดือนละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นอาจารย์ของโจทก์ จำเลยไม่เคยข่มขืนกระทำชำเราหรือร่วมประเวณีกับโจทก์ เด็กหญิงธิดาพร คงนุกูลผู้เยาว์เป็นบุตรของโจทก์ที่เกิดจากชายอื่น มิใช่จำเลย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตรและชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงธิดาพรให้แก่โจทก์ ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์เรียกร้องมากเกินไปสมควรได้รับเพียงไม่เกินเดือนละ 750 บาทจนกว่าเด็กหญิงธิดาพรจะบรรลุนิติภาวะเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า เด็กหญิงธิดาพร คงนุกูลเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพร คงนุกูล เป็นบุตรจำเลย หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ผู้เยาว์ในอัตราเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันที่ผู้เยาว์คลอด (วันที่ 12 ตุลาคม 2528) จนกว่าผู้เยาว์จะมีอายุครบ 5 ปี อัตราเดือนละ 2,000 บาท นับแต่ผู้เยาว์อายุ 5 ปีขึ้นไปจนกว่าจะอายุครบ 10 ปี อัตราเดือนละ 2,500 บาท นับแต่ผู้เยาว์มีอายุ 10 ปีขึ้นไปจนถึงอายุ 15 ปีบริบูรณ์และอัตราเดือนละ3,000 บาท นับแต่ผู้เยาว์อายุ 15 ปีขึ้นไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อปี 2520 โจทก์เข้าศึกษาที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำเลยเป็นอาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ให้บริการปรึกษาแก่นักศึกษา เมื่อต้นปี 2524 โจทก์มีปัญหาเรื่องการศึกษาเนื่องจากสอบได้ไม่ครบตามหลักสูตรยังขาดอยู่อีก 1 วิชา และโจทก์ไม่มีเงินจะศึกษาต่อ จึงขอคำปรึกษาจากคณบดี คณบดีแนะนำให้โจทก์ไปพบจำเลยโจทก์จึงไปพบจำเลยที่ห้องทำงาน ผลที่สุดจำเลยรับจะช่วยเหลือให้โจทก์ทำงานอยู่ที่ห้องทำงานของจำเลยโดยช่วยจัดห้องทำงาน จัดเอกสารเข้าแฟ้ม ช่วยรับโทรศัพท์แต่ไม่ได้ทำทุกวัน จำเลยจ่ายค่าตอบแทนให้ครั้งละ 100 บาท ถึง 200 บาท โจทก์ทำงานอยู่กับจำเลยจนจบการศึกษา แต่ยังหางานที่อื่นทำไม่ได้ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2525 หรือ2526 โจทก์ตั้งครรภ์ จำเลยได้พาโจทก์ไปทำแท้งที่คลีนิกแพทย์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ครั้นต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2528โจทก์ตั้งครรภ์อีกครั้งและคลอดบุตรเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2528 ชื่อเด็กหญิงธิดาพร คงนุกูล ปรากฏตามสูติบัตรเอกสารหมาย จ.1 โดยมิได้มีการสมรสกับชายและเด็กหญิงธิดาพรมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา ขณะยื่นฟ้องเด็กหญิงธิดาพรอายุได้ 11 เดือนเศษ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่าตามคำฟ้อง จำเลยไม่อาจรู้ได้ว่าโจทก์ฟ้องหรือผู้เยาว์เป็นผู้ฟ้อง ถ้าผู้เยาว์ฟ้องก็เป็นเรื่องที่ผู้เยาว์ฟ้องบิดา เป็นคดีอุทลุม ผู้เยาว์ไม่มีอำนาจฟ้อง หากโจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โจทก์มิได้ฟ้องแทนผู้เยาว์ โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1566 บัญญัติให้บุตรผู้เยาว์ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาและให้อำนาจปกครองอยู่กับมารดาในกรณีที่บุตรเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายและยังมิได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายโดยบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรและมาตรา 1556 ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างเด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ขณะโจทก์ยื่นฟ้องเด็กหญิงธิดาพรผู้เยาว์อายุได้11 เดือนเศษ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร จึงมีอำนาจฟ้องแทนได้ และมาตรา 1565บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ด้วยว่านอกจากอัยการจะฟ้องร้องแทนแล้ว ให้บิดาหรือมารดานำคดีขึ้นว่ากล่าวได้ ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งให้รับผู้เยาว์เป็นบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ที่โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าฟ้องคดีนี้ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์จึงชอบแล้ว และฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยรับผู้เยาว์เป็นบุตรไม่เป็นคดีอุทลุมเพราะเป็นการฟ้องตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้โดยเฉพาะ
สำหรับปัญหาสุดท้าย ผู้เยาว์ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูเพียงใด จำเลยฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดสูงเกินไป ไม่ควรเกินเดือนละ 1,000 บาทนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นรองศาสตราจารย์และมีรายได้อื่นอีก ส่วนโจทก์ยังไม่มีอาชีพและรายได้ ผู้เยาว์จะต้องศึกษาเล่าเรียนสูงขึ้นตามวัย ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์เหมาะสมดีแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนเห็นพ้องด้วย เว้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตั้งแต่วันคลอด (วันที่ 12 ตุลาคม2528) นั้น ในส่วนนี้ไม่ถูกต้องเพราะการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลนั้น มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดสำหรับคดีนี้ให้เริ่มแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพร คงนุกูล เป็นบุตร หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนนั้นเนื่องจากการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลทันทีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3) จึงไม่จำต้องบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตร ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20 บัญญัติว่าเมื่อศาลได้พิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้ ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา และให้ยกคำขอในส่วนที่บังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับเด็กหญิงธิดาพรเป็นบุตร หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์