คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยระบุว่า นาย จ.มาแจ้งว่านาย จ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 2 และต่อจากนั้นเป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงผู้แจ้ง จึงแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง และในช่องผู้แจ้งได้ลงลายมือชื่อของนาย จ. และนางสาว ศ. กรรมการของโจทก์อีกคนหนึ่งด้วย ดังนั้นที่ระบุไว้ในคำร้องทุกข์ว่า นาย จ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ย่อมแสดงให้เห็นว่านาย จ. ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ ทั้งมูลเหตุที่ผู้แจ้งอ้างว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงนั้นเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงให้ผู้แจ้งซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวกับจำเลยที่ 2 เท่ากับอ้างว่าโจทก์ถูกฉ้อโกง และในช่องผู้แจ้งนอกจากจะลงลายมือชื่อนาย จ. แล้ว นางสาว ศ. กรรมการของโจทก์อีกคนหนึ่งก็ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ซึ่งตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ก็ปรากฏว่ากรรมการของโจทก์ที่มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทโจทก์ได้นั้นก็คือนาย จ. กับนางสาว ศ. ลงลายมือชื่อร่วมกัน คำร้องทุกข์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ของบริษัทโจทก์โดยชอบแล้วหาใช่เป็นคำร้องทุกข์ของนาย จ. ในฐานะส่วนตัวไม่ ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ แม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปเสียเองได้ก็ตาม แต่เห็นว่าประเด็นนี้สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีนายจารึก อินทรกำแหงและนางสาวศศิวิไล รัชตเมธีชัย เป็นกรรมการร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ทำการแทนโจทก์ได้ เมื่อระหว่างวันที่1 กุมภาพันธ์ ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงนายจารึกและนางสาวศศิวิไล กรรมการโจทก์โดยแสดงข้อความเท็จว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งจากผู้มีชื่อและมีสิทธินำอาคารไปให้เช่าช่วงได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง และตามสัญญาเช่าเดิมมีข้อห้ามจำเลยที่ 1 ผู้เช่านำอาคารไปให้เช่าช่วงการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์หลงเชื่อทำสัญญาเช่าอาคารกับจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้ร้องทุกข์แล้วภายในอายุความขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหามีว่า คำร้องทุกข์ตามเอกสารหมาย จ.4 ถือได้หรือไม่ว่าเป็นคำร้องทุกข์ของโจทก์พิเคราะห์คำร้องทุกข์ตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว เห็นว่า ในเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่า นายจารึก อินทรกำแหง มาแจ้งว่า นายจารึกซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 2 และต่อจากนั้นเป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงผู้แจ้ง จึงแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง และในช่องผู้แจ้งได้ลงลายมือชื่อของนายจารึกและลายมือชื่อของนางสาวศศิวิไล รัชตเมธี กรรมการของโจทก์อีกคนหนึ่งด้วย ฉะนั้นที่ระบุไว้ในคำร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.4 ว่า นายจารึกซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์นั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่านายจารึกร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ ทั้งมูลเหตุที่ผู้แจ้งอ้างว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงนั้นเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงให้ผู้แจ้งซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวกับจำเลยที่ 2 เท่ากับอ้างว่าโจทก์ถูกฉ้อโกง และในช่องผู้แจ้งในเอกสารหมาย จ.4 นอกจากจะลงลายมือชื่อนายจารึกแล้ว นางสาวศศิวิไลกรรมการของโจทก์อีกคนหนึ่งก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ซึ่งตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามเอกสารหมาย จ.1ก็ปรากฏว่ากรรมการของโจทก์ที่มีอำนาจลงชื่อผูกพันโจทก์ได้นั้นก็คือนายจารึกกับนางสาวศศิวิไล ลงลายมือชื่อร่วมกัน ดังนั้นคำร้องทุกข์ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ของโจทก์โดยชอบแล้ว หาใช่เป็นคำร้องทุกข์ของนายจารึกในฐานะส่วนตัวดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ เมื่อได้ความว่าโจทก์ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเช่นนี้แล้ว อายุความฟ้องคดีสำหรับความผิดฐานฉ้อโกงเช่นคดีนี้จึงมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์2529 และปรากฏตามสำนวนว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน2529 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องนั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ แม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปเสียเองได้ก็ตาม แต่เห็นว่าประเด็นนี้สมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share