แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าศาลแรงงานกลางจะนำบทบัญญัติมาตรา 49 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาใช้บังคับแก่การ เลิกจ้าง ก่อนกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับได้หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้จะมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาก็ตาม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2522 และมาตรา 49 มีผลเป็นการให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะไม่ต้องถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิมแต่เมื่อได้ความว่าเป็นกรณีที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2521ซึ่งตามมาตรา 41(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 บัญญัติให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดและมีคำสั่งศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาสั่งให้ จำเลย รับโจทก์เข้าทำงานตามที่โจทก์ขอโดยอาศัยมาตรา 49แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ วันที่ 1 พฤษภาคม2521 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิด ทำการติดตั้งเครื่องพ่วงต่อจากโทรศัพท์หมายเลข 3932250 ไม่ถูกต้องตามระเบียบฯ อันเป็นการผิดวินัย โจทก์มิได้กระทำความผิดดังที่ถูกกล่าวหา เหตุที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานองค์การฯ จำเลย และมีส่วนเรียกร้องให้มีการปราบปรามการทุจริตในองค์การฯ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดิม ให้จำเลยจ่ายเงินตกเบิกซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2520 ถึงวันเลิกจ้างและให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานรวมทั้งสิทธิอันพึงมีพึงได้จากการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ทุกประการ
จำเลยให้การว่า ได้ให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์กระทำผิดข้อบังคับ
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบเพื่อความเป็นธรรมจึงพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม อัตราเงินเดือนที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง นับเวลาการทำงานติดต่อกัน และให้โจทก์มีสิทธิได้รับการปรับอัตราเงินเดือนย้อนหลัง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นการพิจารณาพิพากษาสั่งตามอำนาจของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 แต่ปรากฏว่ากรณีพิพาทรายนี้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานอันถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2521 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลแรงงานกลางจะนำมาตรา 49 มาพิจารณาและพิพากษาสั่ง โดยที่ปัญหาข้อนี้จะมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ เพิ่งประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมา และบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นการให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะไม่ต้องถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ แต่ในวันที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานอันเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น มาตรา 49 นี้ ยังมิได้ประกาศใช้บังคับ กรณีการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมเช่นคดีนี้จึงต้องบังคับตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะเลิกจ้าง ซึ่งมาตรา 41(4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 บัญญัติให้อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดและมีคำสั่ง ฉะนั้น ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาสั่งให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและอัตราเงินเดือนที่ได้รับในขณะเลิกจ้างโดยอาศัยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์