แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าความเสียหายของทางพิพาทเกิดจากการแก้ไขแบบแปลนของโจทก์เองจากการใช้หินคลุกมาเป็นกรวดคลุกแทนนั้น ประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสองมิได้กล่าวแก้ไว้ในคำให้การ ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
เมื่อโจทก์ตรวจพบความเสียหายครั้งแรกวันที่ 16 มีนาคม 2527โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ไปซ่อมแซมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2527 และจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแล้ว หลังจากนั้นโจทก์ยังมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ไปซ่อมแซมอีกหลายครั้ง ตามหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2527 วันที่ 31 มีนาคม 2529 และวันที่22 ตุลาคม 2530 ดังนี้ โจทก์เป็นหน่วยราชการอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนทางพิพาทอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส การที่โจทก์แจ้งความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 หลังจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทราบความเสียหายครั้งแรกประมาณ 27 วัน จึงเป็นเวลาอันสมควรแล้วยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนบกพร่องในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะไม่รีบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ส่วนการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหายนั้น ทางจังหวัดนราธิวาสเคยเข้าไปซ่อมทางโดยนำดินลูกรังไปลง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ซ่อมแซมทางพิพาทโจทก์ก็ได้ว่าจ้างเอกชนรายอื่นซ่อมแซมแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่รีบแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหาย
สัญญาจ้างเหมาข้อ 6 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มีความว่าเมื่องานแล้วเสร็จเรียบร้อยและผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างคนใหม่ในกรณีผู้รับจ้างผิดสัญญาและผู้ว่าจ้างใช้สิทธิเลิกสัญญาตามข้อ 5 ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบงานโดยให้นับวันที่ได้รับมอบงานเป็นวันเริ่มต้น ซึ่งเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องผู้รับจ้าง จะเป็นโดยทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สิ่งของที่ไม่ดี หรือทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาก็ตาม ผู้รับจ้างต้องรีบแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างจะกำหนด โดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของ ค่าแรงงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้ว่าจ้างอีก ถ้าผู้รับจ้างบิดพลิ้ว ไม่แก้ไขซ่อมแซมภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง โดยให้นับวันที่ได้รับแจ้งเป็นวันเริ่มต้น หรือถ้าผู้รับจ้างแก้ไขซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานจ้างนั้นแทนผู้รับจ้างได้ ถ้างานที่จ้างเกิดการชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นหลังจากระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.ด้วย ดังนั้น จึงมีผลบังคับว่า ตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 6 วรรคหนึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชอบต่อความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางพิพาทภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบงาน ถ้าเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 และตามสัญญาจ้างเหมา ข้อ 6 วรรคสอง หมายความว่า นอกจากทางพิพาทเกิดการชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นหลังจาก 1 ปี ตามวรรคหนึ่งแล้วจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 600 เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานวันที่ 20 เมษายน 2526เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบความชำรุดบกพร่องวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 และวันที่ 1 เมษายน 2530 ซึ่งอยู่ภายในกำหนด 5 ปี ดังนี้ความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อยังไม่พ้นระยะเวลาความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเหมาจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิด
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองทั้งสองสำนวนให้รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องด้วยมูลเหตุเดียวกัน แม้จะเป็นความเสียหายคนละจุดไม่ซ้ำซ้อนกันแต่ก็อยู่ในทางพิพาทนั่นเอง ขณะโจทก์ฟ้องสำนวนแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2531โจทก์พบความเสียหายในสำนวนหลังแล้ว สิทธิหรือมูลฟ้องของโจทก์จึงมีอยู่แล้วขณะฟ้องสำนวนแรก ศาลชั้นต้นชี้สองสถานสำนวนแรกวันที่ 1 เมษายน 2531โจทก์จึงชอบที่จะขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์ในสำนวนแรกได้ ตามป.วิ.พ.มาตรา 180 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่โจทก์ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นการฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1)